นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ (CAC) ครั้งที่ 46 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-2 ธ.ค. 2566 พร้อมด้วยผู้แทน มกอช. กรมประมง สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทน มกอช. กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในโอกาสนี้ มีการจัดงานเฉลิมฉลองโคเด็กซ์ครบรอบ 60 ปี (Codex@60th Anniversary) โดยนายพิศาล พงศาพิชณ์ ได้รับเกียรติให้รับโล่ในฐานะที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมคณะกรรมการวิชาการโคเด็กซ์หลายสาขา รวมถึงการเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุม Ad hoc Codex Intergovernmental Task Force on the Processing and Handling of Quick Frozen Foods (TFPHQFF) ในปี 2008
นายพิศาล พงศาพิชณ์ กล่าวว่า สำหรับการประชุม CAC ครั้งที่ 46 มีการรับรองมาตรฐานที่สำคัญหลายเรื่อง จากหลายสาขา ทั้งสุขลักษณะอาหาร เช่น แนวทางการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในการผลิตอาหาร (ในส่วนของ fresh produce) แนวทางการควบคุม Vibrio spp. ก่อโรคในอาหารทะเล มาตรฐานจากสาขาวัตถุเจือปนอาหาร สารปนเปื้อน (เช่น ค่าปริมาณสูงสุดของ อะฟลาท็อกซินและโอคราท็อกซินในพริกแห้ง/าปริกา/จันทน์เทศ) วิธีวิเคราะห์และชักตัวอย่างโภชนาการและอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ สารพิษตกค้าง ระบบการตรวจสอบและรับรองสินค้าอาหารนำเข้าและส่งออก (เช่น การเริ่มงานทบทวนมาตรฐานระบบการตามสอบ ) สารตกค้างจากยาสัตว์ในอาหารและสาขาฉลากอาหาร (เช่น การแสดงฉลากสารก่อภูมิแพ้) มาตรฐานที่จัดทำโดยภูมิภาคต่างๆ เช่น มาตรฐานภูมิภาคเอเชียสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวปรุงสุกห่อใบพืชชนิดต่างๆ ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ผลิตดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
เลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อว่า อีกทั้ง มีการพิจารณารับรองค่าปริมาณยาสัตว์ตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits; MRLs) ของสาร zilpaterol hydrochloride ในเนื้อ ตับ และไตของโคและกระบือ ที่มีประเด็นโต้แย้งกันมากและยาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งประเทศไทยได้ยืนยันคัดค้านการรับรองค่า MRLs ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากความเสี่ยงที่อาจพบได้ในเครื่องในชนิดอื่นที่มีการบริโภคมาก และยืนยันการขอการสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ใช้ค่า MRLs ดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ยาสัตว์เฉพาะเพื่อการรักษาโรคและไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoter) อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่บรรลุฉันทามติ จึงเห็นชอบค่า MRLs ดังกล่าวโดยการโหวต ที่ทำตามขั้นตอนดำเนินงานและประเทศไทยจะขอลงบันทึกการคัดค้านการรับรองค่านี้ในรายงานการประชุมต่อไป