รมว.ศธ.เปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 46 มุ่งเน้นให้โอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ยกระดับทักษะของบุคลากรและแรงงาน สร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ครั้งที่ 46 (46th SEAMEO High Officials Meeting: SEAMEO HOM) โดยมี นายสุเทพ  แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการไทย ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณสำนักงานเลขาธิการซีมีโอสำหรับการจัดการประชุมครั้งสำคัญนี้ และกล่าวว่าองค์การซีมีโอมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน และขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเรียนการสอนตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้จากความร่วมมืออันแข็งแกร่งของประเทศสมาชิกซีมีโอทั้ง 11 ประเทศ และความเชี่ยวชาญของศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคทั้ง 26 แห่ง โดยได้เน้นย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมและโครงการสำคัญของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ ประเทศสมาชิกสมทบ และหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ

นอกจากนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการประกันความเจริญรุ่งเรือง เสถียรภาพ และความยั่งยืนของประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การให้โอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม การยกระดับทักษะของบุคลากรและแรงงาน การสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน การเสริมสร้างศักยภาพของครู ตลอดจนการปลูกฝังหลักคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ในการมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้เต็มศักยภาพภายใต้หลักการ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และ “เรียนดี มีความสุข”

นอกจากนี้ ภายหลังพิธีเปิดการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบรางวัลให้แก่ ผู้ชนะเลิศรางวัลต่าง ๆ ขององค์การซีมีโอทั้งสิ้น 3 รางวัล ได้แก่ 1) 2023 SEAMEO-Japan ESD Award 2) 2023 SEAMEO-Australia Education Links Award และ 3) Southeast Asian Waste Hero Award (SEAMEO SEPS)

1. 2023 SEAMEO-Japan ESD Award (หัวข้อ “Promoting Environment Education through Utilizing Renewable Energy”)

1) ประเภทโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 250 คน ได้แก่ โรงเรียน Sekolah Kebangsaan Telok Ramunia ประเทศมาเลเซีย

2) ประเภทโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 250 คน ได้แก่

รางวัลที่ 1 โรงเรียน AL-YA’LU Superior Elementary School ประเทศอินโดนีเซีย

รางวัลที่ 2 โรงเรียน SM ST Michael, Penumpang ประเทศมาเลเซีย

รางวัลที่ 3 โรงเรียน Rattanaburi School ประเทศไทย

2. 2023 SEAMEO-Australia Education Links Award (หัวข้อ “Fostering Inclusion through Digital Technology) ผู้ได้รับรางวัล คือ นางสาว Nural Aisyah นักศึกษาปริญญาโทจาก Quantic School of Business and Technology ประเทศอินโดนีเซีย

3. Southeast Asian Waste Hero Awards by SEAMEO SEPS
ระดับโรงเรียน

1) โรงเรียนระดับอนุบาล/ประถมศึกษา ได้แก่ โรงเรียน Sekolah Alam Pacitan ประเทศอินโดนีเซีย

2) โรงเรียนมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียน St.Patrick’s Secretary School ประเทศมาเลเซีย

ระดับครู

– ครูระดับอนุบาล/ประถมศึกษา ได้แก่ นางสาว Putri Rismantia ประเทศอินโดนีเซีย

– ครูระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ นางสาว Divina Gripon Garcia ประเทศฟิลิปปินส์

ในส่วนการประชุมวาระเฉพาะ (In Camera Session) ที่ประชุมได้รับทราบการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อมติที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 วาระเฉพาะ ในปี 2566 รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ประจำปี 2566 ข้อเสนอโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของซีมีโอภายใต้ความร่วมมือสหราชอาณาจักร-อาเซียนเกี่ยวกับ Supporting the Advancement of Girls’ Education (SAGE) Programme ข้อเสนอการแก้ไขคู่มือการจัดสรรกองทุนด้านการพัฒนาการศึกษาของซีมีโอ (กองทุนรวม) ข้อเสนอกรอบผลลัพธ์การดำเนินงานของซีมีโอ แผนงานประจำปีของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ สำหรับปีงบประมาณ 2566 – 2567 ข้อเสนองบดำเนินงาน 3 ปีของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ปีงบประมาณ 2567/2568 – 2569/2570 ข้อเสนอการพิจารณาแก้ไขกฎบัตรของซีมีโอ การแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับของศูนย์ซีมีโอไบโอทรอป และข้อเสนอแผนพัฒนา 5 ปี ระยะที่ 7 ของศูนย์ซีมีโอโวคเทค นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับข้อเสนอการหมุนเวียนตำแหน่งประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน 7 ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาของซีมีโอ ได้แก่

1. การส่งเสริมการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย

2. การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา

3. การเตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อเผชิญกับสภาวะฉุกเฉิน

4. การส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา

5. การปฏิรูประบบการพัฒนาครู

6. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและการวิจัย

7. การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ในส่วนการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ที่ประชุมจะได้ร่วมกันรับรองรายงานในส่วนที่เป็นการแจ้งเรื่องข้อมติ จำนวน 39 เรื่อง รวมทั้งพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและอนุมัติข้อเสนอของของศูนย์ และเครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และสำนักงานเลขาธิการซีมีโอเกี่ยวกับแผนพัฒนาระยะ 5 ปี งบประมาณในการดำเนินงาน เงินกองทุน เงินบริจาค และโครงการความร่วมมือต่าง ๆ กับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกภูมิภาค

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอครั้งที่ 46 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากกว่า 150 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงจากประเทศสมาชิกซีมีโอ 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม ผู้แทนประเทศสมาชิกสมทบ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ ผู้แทนศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ รวมทั้งหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว มีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการศึกษา และกำหนดแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้