กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) กรณีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในช่วงนี้ที่กำลังเข้าสู่ฤดูระบาดและเป็นช่วงขาขึ้นของโรคไข้เลือดออก หลังปีนี้พบอัตราป่วยสูงในกลุ่มเด็กวัยเรียน แต่กลับพบกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปเสียชีวิตมากถึง 12 ราย จาก 19 ราย โดยเน้นดูแลเป็นพิเศษในประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว และผู้สูงอายุ เป็นต้น
วันที่1มิถุนายน 2561 ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) กรณีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูระบาดและเป็นช่วงขาขึ้นของโรคไข้เลือดออกด้วย จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการและติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤษภาคม 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วย 13,164 ราย เสียชีวิต 19 ราย จากระบบเฝ้าระวังโรคพบว่าจำนวนผู้ป่วยเริ่มสูงกว่าปกติตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยพบการเกิดโรคมากในภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล, จังหวัดใหญ่ทางภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต, ภาคกลางตอนบน ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก, และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ นอกจากนี้ การป่วยและเสียชีวิตตามกลุ่มอายุ พบว่าอัตราป่วยยังคงสูงสุดในเด็กวัยเรียน 5–14 ปี พบผู้ป่วย 4,486 ราย อัตราป่วย 56 ต่อประชากรแสนคน แต่เมื่อพิจารณาการเสียชีวิตพบว่าในปี 2561 นี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกลับเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ราย จากทั้งหมด 19 ราย
จากการสอบสวนกรณีการเสียชีวิต พบสาเหตุดังนี้ 1.ผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลช้า เนื่องจากมีไข้สูงแต่ไปซื้อยากินเองหรือไปฉีดยาตามคลินิก แต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ 2.ผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แพทย์อาจวินิจฉัยคลาดเคลื่อนเป็นโรคอื่นๆ ในระยะแรกของการป่วย เนื่องจากในอดีตไข้เลือดออกจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และ 3.ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ การให้สารน้ำและดูแลในภาวะวิกฤตจะยากและซับซ้อนกว่าผู้ป่วยเด็ก ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย เช่น ตับวาย ไตวาย
กรมควบคุมโรค ขอให้คำแนะนำเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ดังนี้ 1.ประชาชนควรสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไข้สูงเกินกว่า 2 วันต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ ไม่ควรไปฉีดยาลดไข้หรือซื้อยากินเอง 2.บุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูงลอยเกินกว่า 2 วัน แม้เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องนึกถึงและตรวจหาสาเหตุว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ และ 3.ผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก และมีโรคเรื้อรังประจำตัวหรือเป็นผู้สูงอายุ หากเข้าสู่ภาวะวิกฤต เช่น ความดันโลหิตต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่และด้านเวชบำบัดวิกฤตคอยให้คำปรึกษาในการดูแลรักษาผู้ป่วย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนดูแลบ้านเรือนตนเองไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ และหากมีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมชน เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานประกอบการ สถานที่ราชการต่างๆ รณรงค์จัดกิจกรรมให้ทุกคนร่วมกันสำรวจลูกน้ำยุงลายตามแจกัน จานรองกระถางต้นไม้ หรือแหล่งน้ำขัง หากพบลูกน้ำให้คว่ำหรือทำลายแหล่งน้ำขังนั้นทันที และหมั่นเปลี่ยนน้ำเป็นประจำ หรือใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลากัด เป็นต้น เพื่อเป็นการทำลายต้นตอของโรคไข้เลือดออก ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422