ก.ค.ศ. เปิด 4 ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณี ว 13/2556

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 12/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มีมติให้เปิดเผยผลการวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด กรณี ว 13/2556 จากกรณีที่มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ขอทบทวนคุณสมบัติเข้ารับการประเมินในการเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ทุกตำแหน่ง (ว 13/2556) ยื่นฟ้อง ก.ค.ศ. ต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติ ก.ค.ศ. ที่ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว และให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 13/2556 ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องแล้ว จำนวน 2 ราย ใน 4 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 รางวัลและผลงานเทียบเคียงที่ ก.ค.ศ. เคยรับรองให้ในการยื่นคำขอปี 2556 แต่ต่อมาเมื่อให้มีการยื่นคำขอในปี 2559 กลับไม่รับรองในบางรางวัลหรือบางผลงาน

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าผลงานที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับผลงานที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปซึ่งส่วนราชการต้นสังกัดเคยเสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณารับรองเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติมาแล้ว แต่ ก.ค.ศ. มีมติไม่รับรองจึงเป็นกรณีที่ ก.ค.ศ. ใช้ดุลพินิจพิจารณาแล้วไม่ถือว่าเป็นผลงานดีเด่นที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับผลงานดีเด่นที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปโดยไม่จาต้องหยิบยกผลงานหรือรางวัลดังกล่าวมาพิจารณาเป็นการเฉพาะอีกมติ ก.ค.ศ. จึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นการยกฟ้อง

ประเด็นที่ 2 การรายงานตามรูปแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดกรณีรางวัลเดียวกันที่ได้รับคนละปี แต่นำมารายงานรวมกันไม่แยกเป็นรายรางวัลและไม่ได้รายงานตามรูปแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่ง ก.ค.ศ. มีมติไม่รับรองเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าการรายงานตามรูปแบบที่ ก.ค.ศ. กำหนดถือเป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่จะต้องตรวจสอบคำขอและเอกสารต่าง ๆ ของตนว่าถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการส่งผลงานหรือไม่อันเป็นเงื่อนไขทั่วไปในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมินอย่างหนึ่งดังนั้นเมื่อคำขอของผู้ฟ้องคดีไม่ได้รายงานแยกเป็นรายรางวัลไม่ได้จัดทำให้ถูกต้องครบถ้วนเสียตั้งแต่ชั้นยื่นคำขอ การพิจารณาของ ก.ค.ศ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยหลักเกณฑ์และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่ 3 การเสนอรางวัลที่ไม่อยู่ในช่วงเวลาที่ ก.ค.ศ. กำหนด (เกิน 3 ปี) และได้รายงานการพัฒนาผลงานและการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ ก.ค.ศ. มีมติว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เนื่องจากการรายงานขาดกระบวนการและหลักฐานประกอบ

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ในแบบรายงานที่ก.ค.ศ. กำหนด ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ขอต้องรายงาน ว่ามีการพัฒนางานและมีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องอย่างไร การที่ผู้ขอไม่ได้นำเสนอกระบวนการพัฒนาและเอกสารหลักฐานประกอบ ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีแสดงข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนการพิจารณาของ ก.ค.ศ. จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว

ประเด็นที่ 4 การนำรางวัลที่ ก.ค.ศ. ไม่รับรองมาเสนอเป็นผลงานเทียบเคียง ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ โดยมิได้วิเคราะห์องค์ประกอบตามข้อ 13 ของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 13 /2556

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าผลงานดีเด่นที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปตามข้อ 12 และผลงานดีเด่นที่ส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาเห็นว่า เป็นผลงานดีเด่นที่มีคุณภาพเทียบเคียง กับผลงานดีเด่นที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปตามข้อ 13 ล้วนต้องเป็นผลงานที่ ก.ค.ศ. ให้การรับรองแม้หลักเกณฑ์ในการพิจารณากรณีดังกล่าวจะมีองค์ประกอบในการพิจารณาที่แตกต่างกันก็ตามการที่ผู้ฟ้องคดีได้นำผลงานที่ ก.ค.ศ. ไม่รับรองเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปมาเสนอเป็นผลงานเทียบเคียงจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามข้อ 12 และข้อ 13 ของหลักเกณฑ์ดังกล่าว มติ ก.ค.ศ. จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบ
ด้วยหลักเกณฑ์และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นการยกฟ้อง

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว เป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นที่ผู้ขอทบทวนส่วนใหญ่ นำไปยื่นฟ้อง ก.ค.ศ. ต่อศาลปกครอง ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้แจ้งคำพิพากษาดังกล่าว ให้ศาลปกครองทุกแห่งที่มีผู้นำประเด็นนี้ไปฟ้องคดี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดีที่เหลืออยู่แล้ว