พม. จับมือเครือข่าย จัดงาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย พร้อมเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26)

วันที่ 29 พ.ย. 2566 เวลา 13.30 น. ที่ Helix Garden ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) กรุงเทพฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน จัดงาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ (National Launching UN CRC GC26 in Thailand) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ร่วมกับนางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย อีกทั้ง ศ.ดร.บุญชัย หงส์จารุ ประธานอำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับ นางสาวอิสราภรณ์ ดาวราม กรรมการขับเคลื่อนเครือข่ายสิทธิเด็ก ประเทศไทย และนายศักดิ์นฤน ขามธาตุ ตัวแทนเยาวชน กล่าวความเป็นมาและการมีส่วนร่วมเยาวชนในประเด็น GC26 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้อง และเปิดตัววิดีทัศน์ Protect Children’s Rights and Our Planet on UN General Comment No. 26

นายอนุกูล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 มีการเปิดตัวเอกสารอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) อย่างเป็นทางการของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Committee on the Rights of the Child) ในการประชุม The Global Launch of General Comment No. ณ กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี 196 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกระทรวง พม. ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และภาคประชาสังคม ร่วมแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไป ข้อ 26 (GC26) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวันสิทธิเด็กสากล (Universal Children’s Day) จึงมีการจัดงานเวทีสิทธิเด็กในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี สำหรับปี 2566 กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้จัดงานเวทีสิทธิเด็ก ครั้งที่ 34 ภายใต้แนวคิด“ร่วมกันสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อโลกใบนี้ที่ดีกว่า” (GOOD BALANCE, BETTER WORLD) ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ เพื่อเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชนในการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมเรื่องสิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นทั่วไปของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26)


นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า วันนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน จัดงาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ (National Launching UN CRC GC26 in Thailand) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย” และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานหรือแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศ

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขับเคลื่อนงานสิทธิเด็ก กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ

1) การเปิดตัว “ความเห็นทั่วไป ข้อ 26” ของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ” เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66

2) การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการทำแผนรับมือภัยพิบัติเพื่อคุ้มครองเด็กในภาวะฉุกเฉิน

3) การส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน องค์กรเด็กเยาวชน ขับเคลื่อนงานสิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อมผ่านกลไก เช่น กิจกรรม Zero Waste และเยาวชนรักษ์โลก รวมถึงจัดทำสื่อสร้างความตระหนักรู้สำหรับเด็กด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และออกแบบที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ

4) ความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการวางแผนการทำงานคุ้มครองเด็กในระดับพื้นที่ และซักซ้อมหัวหน้าหน่วยงานและบุคลากรในภาคใต้ เกี่ยวกับบทบาทกระทรวง พม. ในการเตรียมความพร้อมกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้กำหนดให้ประเด็น Climate Change เป็นนโยบายขับเคลื่อนงานของกระทรวง พม. ที่มุ่งเน้นการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้มกันทางสังคม มีต้นทุนทางสังคม และมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพ อาทิ ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ และคนพิการ การใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น พร้อมทั้งขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เด็กเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับ ไม่ถูกละเมิดสิทธิจากผลกระทบของภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ครอบครัวและชุมชน สามารถดูแลเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นต้น