กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขชวนคนไทยดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้วทุกวันควบคู่อาหารอื่นๆ ให้ครบ 5 หมู่อย่างหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30นาที เพื่อกระดูกที่แข็งแรงสุขภาพที่ดี
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมสำหรับทุกวัย เพราะในนมมีโปรตีนคุณภาพดีและมีปริมาณแคลเซียมสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะนมโคสด 100 เปอร์เซ็นต์ ไขมันต่ำรสจืด มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งรสและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงโดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงโตเร็ว ซึ่งจะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ส่วนวัยผู้ใหญ่ควรดื่มนมเป็นประจำเพราะมีวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6บี 12 วิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัส ที่ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรงรวมถึงผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพิ่ม จึงจำเป็นต้องดื่มนมทุกวัน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า คนไทยควรดื่มนมรสจืดทุกวัน โดยเด็กก่อนวัยเรียน1 ปีขึ้นไป และวัยเรียน ควรดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง เด็กควรดื่มนมครบส่วนไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือ ไร้ไขมัน เพราะนมครบส่วนมีแหล่งพลังงานคือไขมันและวิตามินเอ ดี อี เค ซึ่งละลายในไขมัน และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเด็กวัยนี้ ส่วนวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุแนะนำให้ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่ปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือนมไร้ไขมัน ผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่พอ อาจจะมีอาการถ่ายบ่อยเมื่อดื่มนม แนะนำให้เริ่มดื่มนมครั้งละน้อยหรือประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละหนึ่งแก้วได้ในเวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือกินผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลกโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตเป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่นิยมดื่มนม มักได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ เพราะในอาหารอื่นมีแคลเซียมต่ำและร่างกายนำไปใช้ไม่ได้ดีเท่าแคลเซียมในนม สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรควรดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว และบริโภคปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อนกินข้าวหรือ ผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือเต้าหู้แข็ง 1 แผ่นเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกทั้งมารดาและทารกในครรภ์
“ทั้งนี้ การเลือกดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมให้สังเกตวันหมดอายุ มีเครื่องหมาย อย.รับรองอย่างถูกต้องและอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ว่ามีน้ำนมโคสดแท้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำนมโคสดแท้ที่เปอร์เซ็นต์สูงกว่าจะได้รับสารอาหารจากนมมากกว่า นอกจากนี้ ควรบริโภคอาหารอื่นๆ ให้ครบ 5 หมู่อย่างหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เพื่อการมีสุขภาพที่ดี” รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวในที่สุด