นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน เป็นปัญหาที่เกษตรกรมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากเชื้อราสาเหตุของโรคจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อรากต้นปาล์ม ทำให้ต้นปาล์มขาดน้ำ ออกผลเล็กลง ใบเปลี่ยนรูปและเหี่ยว กระทั่งต้นปาล์มเน่ายืนต้นตาย ซึ่งลักษณะอาการภายนอกของโรคนี้ในระยะเริ่มแรกค่อนข้างสังเกตได้ยากเพราะมักมีลักษณะคล้ายอาการขาดธาตุ รวมถึงเชื้อสาเหตุยังสามารถแพร่ไปสู่ต้นข้างเคียง ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันที่ปลูกภายหลังไม่เจริญเติบโตอีกด้วย สำหรับช่วงที่มีฝนและสภาพอากาศมีความชื้นสูงนั้น เหมาะต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าขณะนี้ประเทศไทยตอนบนยังคงถูกปกคลุมด้วยมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง ทำให้อุณหภูมิลดลง มีลมแรงและมีฝนบางแห่งในภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ขณะนี้เผชิญกับมรสุมกำลังค่อนข้างแรง โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างที่มีฝนตกหนักและหนักมากในบางพื้นที่ และอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้พี่น้องเกษตรกรที่เผชิญกับภาวะอากาศเย็นชื้นและมีฝนทุกพื้นที่ เฝ้าระวังโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน และหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอในระยะนี้ ซึ่งสปอร์ของเชื้อราสาเหตุสามารถแพร่ระบาดโดยผ่าน ลม น้ำ เครื่องมือทางการเกษตร และการสัมผัสกันของราก ปัจจุบันพบพื้นที่เกิดโรคแล้วประมาณ 1 หมื่นไร่ จากพื้นที่ปลูกรวมกว่า 4 ล้านไร่ ใน 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สตูล ตรัง ระยอง สงขลา นราธิวาส พังงา (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ย. 66)
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อควรปฏิบัติของเกษตรกรก่อนปลูกคือ ใช้เชื้อราไตรโคเดอรมา 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม หว่านหรือรองก้นหลุมอัตรา 100 กรัมต่อต้น หรือหว่านในแปลงปลูกหรือรอบทรงพุ่มในอัตรา 3-6 กิโลกรัมต่อต้น หมั่นดูแลรักษาแปลงปลูกให้สะอาด จัดการระบบระบายน้ำให้ดี และบำรุงรักษาต้นปาล์มน้ำมันให้แข็งแรง โดยใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมตามการเจริญเติบโต จากนั้นควรหมั่นสังเกตอาการของโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน ซึ่งมักพบในต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป หรือต้นปาล์มน้ำมันอายุ 1-2 ปี ที่ปลูกซ้ำแปลงเกิดโรค ลักษณะจะมีอาการใบซีดเหลือง ใบมีสีซีดกว่าปกติหรือเป็นปื้นบนทางใบล่าง ทางใบหักพับทิ้งตัวห้อยลงรอบลำต้น ใบย่อยแห้งตาย ยอดที่ยังไม่คลี่มีจำนวนมากกว่าปกติ โคนต้นหรือรากบริเวณผิวดินใกล้โคนต้นจะพบดอกเห็ด ซึ่งภายในลำต้นถูกทำลาย ทำให้ต้นหักล้มลง ไปจนถึงอาการรุนแรงในขั้นยืนต้นตาย เกษตรกรจึงควรหมั่นตรวจสอบต้นที่คาดว่าจะเป็นโรคโดยใช้ไม้เคาะลำต้นปาล์มน้ำมันเพื่อฟังเสียงบริเวณที่ถูกทำลาย สังเกตต้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้นที่เป็นโรค หากพบอาการของโรคให้รีบป้องกันกำจัดโดยขุดหลุมรอบ ๆ ต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากต้นเป็นโรคไปยังต้นปกติผ่านการสัมผัสกันของราก ซึ่งต้องขุดหลุมให้ลึกมากพอ อย่าทำให้รากเกิดแผล และระวังเรื่องร่องตื้นเขินภายหลังด้วย นอกจากนี้ ต้องเก็บดอกเห็ดที่ขึ้นบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันเป็นโรคหรือที่รากบริเวณผิวดินไปทำลายนอกแปลงปลูก ถากบริเวณเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกแล้วทาทับด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา หากยังคงมีดอกเห็ดเกิดขึ้นและอาการยังรุนแรงต่อเนื่องให้ถากซ้ำและทาทับด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น โคลทาร์ สารที่มีส่วนผสมของโคลทาร์ สารไทแรม หรือสารเคมีกำจัดเชื้อรากลุ่มไตรอะโซล รวมถึงกำจัดดอกเห็ด และวัชพืชหรือพืชอาศัยอื่นออกไปให้หมด เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในธรรมชาติ ตลอดจนทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรก่อนนำไปใช้ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค