เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและภริยา ร่วมงานประเพณี เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย และเป็นประธานอัญเชิญพระประทีปพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระประทีปพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 12 พระองค์ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ วัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายทางวัฒนธรรม แขกผู้มีเกียรติ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมพิธี ณ ตระพังตะกวน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ในการนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้อัญเชิญพระประทีปพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ลงลอย และร่วมลอยกระทง ร่วมกิจกรรมเล่นไฟ พร้อมชมการแสดงชุดตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์และชมการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ณ ตระพังตะกวน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พร้อมทั้งเยี่ยมชมลานจำลองวิถีชีวิต หมู่บ้านวิถีไทย งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2566 ณ บริเวณศาลาสี่หลัง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ ลานจำลองวิถีชีวิต หมู่บ้านวิถีไทย งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2566 ประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ ลานกีฬาและวัฒนธรรมสร้างสุข การออกร้านอาหารและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของจังหวัดสุโขทัย กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนแหล่งเรียนรู้ไร่ดวงใจ และนิทรรศการเผยแพร่สาระของประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ ประจำปี 2566
สำหรับงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย 2566 จัดขึ้นทุกปีที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โดยปีนี้จัดงานตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดงานมีประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจเข้าเที่ยวชมงานกว่า 340,000 คน ถือเป็นงานเทศกาลระดับชาติที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างหนาแน่นทุกปี ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้มุ่งเน้นการปรับบทบาทสู่แนวทางเชิงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” ภายใต้กรอบแนวคิด “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติอย่างมีผลสัมฤทธ์เชิงประจักษ์ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วน รวมถึงมีเจตจำนงที่ชัดเจนในการนำพลังสร้างสรรค์มาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ เน้นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างทักษะฝีมือ และสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่สำคัญของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับพื้นที่