วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระครบ 24 ปี ที่พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมี นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่10 นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ คณะข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานชลประทานที่10 ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป พร้อมปล่อยพันธุ์ปลา จำนวน 240,000 ตัว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อันนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของปวงชนชาวไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันมีความหมายว่า “เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ“ เป็นเขื่อนดินชนิดแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความจุ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และตำบลพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2537 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่9) เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก รวมไปถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และลุ่มน้ำป่าสัก ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างสูงสุด ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง สามารถลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างได้เป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย