กรมปศุสัตว์พร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งด้านปศุสัตว์

กรมปศุสัตว์พร้อมรับมือภัยแล้งด้านปศุสัตว์ แจ้งทุกหน่วยในสังกัดทั่วประเทศ มุ่งสร้างการรับรู้สถานการณ์ภัยแล้งให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เตรียมความพร้อมมาตรการ 4 ด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขอย่างทันที

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศเตรียมความพร้อม รับมือการเกิดภัยแล้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่รวมถึงผลผลิตของสัตว์ของเกษตรกร ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการรองรับปัญหา โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ด้าน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รายละเอียด ประกอบด้วย

1 ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการภัยแล้งด้านปศุสัตว์

2 ด้านการเตรียมความพร้อม (ก่อนเกิดภัย) มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านปศุสัตว์ ปี 2562 ดังนี้

2.1 ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร การปลูกและการใช้ประโยชน์พืชอาหารสัตว์ทางเลือกที่มีให้ท้องถิ่นนั้น ๆ

2.2 การสำรองเสบียงสัตว์ มีเสบียงสัตว์สำรอง 331,007.02 ตัน โดย ในคลังเสบียงของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทุกแห่ง 32 แห่ง มีเสบียงสัตว์ 6,587.32 ตัน ในคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล 55 แห่ง มีเสบียงสัตว์ 190 ตัน และเกษตรกร จำนวน 482 ราย ได้เตรียมความพร้อมด้านเสบียงสัตว์ 324,229.7 ตัน

2.3 จัดเตรียมถุงยังชีพสำหรับสัตว์ เบื้องต้น 3,000 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วยยา วิตามินและเวชภัณฑ์ สำหรับการลดความเครียดและบำรุงร่างกาย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

2.4 สำรองยาและเวชภัณฑ์ ดูแลสุขภาพสัตว์ ประจำสำนักงานปศุสัตว์เขต 9 เขต

2.5 หน่วยเคลื่อนที่เร็ว รวม 119 หน่วย 357 คน พร้อมช่วยด้านการรักษาพยาบาลสัตว์ การลำเลียงและขนย้ายเสบียงสัตว์ไปให้ความช่วยเหลือ พร้อมยานพาหนะ จำนวน 204 คัน

2.6 เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่ เตรียมความพร้อมไว้สูงสุด เพื่อเป็นกำลังเสริมในการประสานกับปศุสัตว์จังหวัด

3 ด้านการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (ขณะเกิดภัย) จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ ระดับกรม หรือ War Room มีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ประสานการปฏิบัติงาน ประเมินความต้องการและความเสียหาย ที่สำคัญคือ หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย และประเมินผลกระทบเบื้องต้น

4 ด้านการฟื้นฟูและเยียวยา (หลังเกิดภัย) สำรวจและประเมินความเสียหายพร้อมให้ความช่วยเหลือ (เป็นเงินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ) อย่างเร่งด่วนภายใน 60 วัน ตลอดจนการช่วยเหลือฟื้นฟูแปลงพืชอาหารสัตว์และส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 216 ราย โดยเป็นโค 1,500 ตัว ในพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลือแจกเสบียงสัตว์ 13,600 กิโลกรัม นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกหน่วย เร่งรัดการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในการป้องกันดูแลปศุสัตว์ของตนเอง ทั้งนี้ หากเกษตรกรรายใดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถแจ้งความประสงค์และติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-6534553 ,02-6534444 ต่อ 3315 หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที

ข้อมูล : กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ (30 กรกฎาคม 2562)