“เฝ้าระวังใกล้ชิด” กรม ทช. ส่งหน่วยบินสำรวจฯติดตามพะยูนหลังเกยตื้นบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 เวลา 05.00 น. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจากคุณทิพย์อา จันทกุล กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง ว่าเวลาประมาณ 04.30 น. พบพะยูนเกยตื้นติดแห้งมีชีวิต บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ห่างจากฝั่งประมาณ 500 ม. จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นพะยูนตัวเต็มวัย มีความยาวประมาณ 250 ซม. สภาพอ่อนแรงเนื่องจากติดแห้งเป็นระยะเวลานาน พบบาดแผลถลอกจากการเกยตื้นเล็กน้อย แต่พะยูนยังมีการตอบสนองดี พยายามตีหางว่ายลงทะเล ทางเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงร่วมกับชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ซึ่งได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว ได้ทำการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นดังกล่าว โดยการขนย้ายและนำพะยูนปล่อยลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ลงพื้นที่ไปยังเกาะลิบงเพื่อสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของพะยูนตัวดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566 โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Multi-rotor บินสำรวจบริเวณหน้าสะพานหอชมพะยูนและหน้าเขาบาตูปูเต๊ะซึ่งใกล้กับจุดที่พบการเกยตื้น โดยผลการสำรวจพบพะยูนขนาดโตเต็มวัย 1 ตัว กำลังแสดงพฤติกรรมหาอาหาร ว่ายน้ำและทรงตัวปกติ การหายใจปกติ วัดอัตราการหายใจได้ 3 ครั้ง/ 5 นาที ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านและเครือข่ายในพื้นที่คาดว่าเป็นพะยูนตัวเดียวกัน ซึ่งสาเหตุการเกยตื้นนั้นเนื่องจากพะยูนตัวดังกล่าวเข้ามากินหญ้าทะเลใกล้ชายฝั่งและว่ายน้ำลงทะเลไม่ทันในช่วงน้ำทะเลลง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ชุมชนชายฝั่ง และกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังการกลับมาเกยตื้นซ้ำของพะยูนตัวดังกล่าว นอกจากนี้หากใครพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้รีบแจ้งมายังกรม ทช. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและฟื้นฟูสัตว์ทะเลเหล่านี้ หรือแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362