รมว.ดีอี นำทีม สดช. ลงพื้นที่โคราช เปิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลมะเกลือใหม่ มุ่งหวังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของคนในพื้นที่ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐมากขึ้น

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เป็นประธานเปิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนในพื้นที่ตำบลมะเกลือใหม่ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เข้าร่วมในครั้งนี้ โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายหิรัญ พรมพันธ์ใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จากนั้น รมว.ดีอี พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ดิจิทัลชุมชนแห่งนี้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดยการดำเนินงานของ สดช. มีความมุ่งหวังให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน ให้สามารถสืบค้นข้อมูลและเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมการค้าขายสินค้าออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นการขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตสู่ท้องถิ่น ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการภาครัฐเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวอีกว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ เป็นเป้าหมายหนึ่งของ สดช. ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนในสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัด มัสยิด โรงเรียน สถานที่ราชการในท้องถิ่น และชุมชนที่เหมาะสม ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มเติมในส่วนของสถานศึกษาอีก 1,722 แห่ง รวมจำนวนกว่า 2,222 แห่งทั่วประเทศ

“สดช. ได้จัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไป อาทิ 1) อุปกรณ์และครุภัณฑ์สำหรับเรียนรู้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมระบบปฏิบัติการและโปรแกรมจัดการสำนักงาน อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง 2) สิ่งอำนวยความสะดวกด้านดิจิทัล ได้แก่ เครื่องพิมพ์ Multifunction สำหรับพิมพ์/ถ่าย/สแกน/แฟกซ์เอกสาร รวมไปถึง Smart TV เครื่องมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพงแบบเคลื่อนที่ ระบบ CCTV 3) พื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ ชุดสตูดิโอถ่ายภาพและกล้องถ่ายรูปดิจิทัล โดยเป็นการนำเสนอจุดถ่ายรูปสินค้าชุมชน ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยในการนำสินค้าชุมชนจำหน่ายบนเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com และ 4) พื้นที่การประชุม (co-working space) พร้อมทั้งหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับประชาชนในชุมชน” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม