ยิ่งใหญ่ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับช่อง 3 สานต่อนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม ถอดบทเรียนจาก “พรหมลิขิต” หาแนวทางผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ผ่านละคร

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมส่งเสริม Soft Power เบิกฟ้าอโยธยา ย้อนเวลาไปกับ พรหมลิขิต โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละคร นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร บริษัท บีอีซีเวิลด์จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ดารานักแสดงจากละครพรหมลิขิต ประกอบด้วย พีพี-ปุญญ์ปรีดี คุ้มพร้อม โอม-คณิน สแตนลีย์ ปีเตอร์แพน-ทัศน์พล วิวิธวรรธน์ รอน-ภัทรภณ โตอุ่น เครือข่ายทางวัฒนธรรม แขกผู้มีเกียรติ ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ อาคารเครื่องทองอยุธยสพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนำทัพนักแสดงและผู้จัด เยี่ยมชมบรรยากาศวัดไชยวัฒนารามยามราตรี ชมการบรรเลงและขับร้องดนตรีไทยสากล ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ชมการบรรเลงดนตรีไทยและการแสดงทางวัฒนธรรม และชมการออกร้านสาธิตอาหารไทยโบราณและผ้าลายอย่าง อีกด้วย

สำหรับบรรยากาศภายในงานมีกิจกรรม การเสวนาการส่งเสริม Soft Power ผ่านละคร “พรหมลิขิต” มีผู้ร่วมเสวนาฯ ประกอบด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละคร นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร ที่ 3 พระนครศรีอยุธยา การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเป็นการร่วมกันถอดบทเรียนที่สำคัญจากการผลิตและนำเสนอละคร พรหมลิขิต เพื่อที่จะนำมาปรับใช้เป็นแนวทางส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมไทยออกสู่ระดับสากล เพื่อสร้างการรับรู้ และเพิ่มการท่องเที่ยว อันจะส่งผลต่อการสร้างรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ชุมชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง หรือ FILM อันได้แก่ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างความสำเร็จในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเสวนามีการกล่าวถึงประเด็นแนวทางการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อให้สื่อบันเทิงอย่างละครสามารถผลิตผลงานสู่สากลได้มากขึ้น การทำงานและเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ประกอบการและผู้จัดละครที่จะต้องผลิตคอนเทนต์ที่ทั้งต้องสนุกจนได้รับความนิยม และในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถที่จะเผยแพร่เรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไปด้วย ให้กลายเป็นพลังละมุนที่จะทำให้ชาวต่างชาติเกิดความสนใจในประเทศไทยและต่อยอดให้เกิดรายได้แก่ประเทศต่อไป

“พรหมลิขิต” เป็นภาคต่อของละครรักโรแมนติกอิงประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส” นำแสดงโดย โป๊ป ธนวรรธน์ และ เบลล่า ราณี โดยผู้จัดฯ หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์ กำกับการแสดงโดย สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร์ โดยออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เป็นตอนแรก โดย พรหมลิขิต ถือเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นมากกว่าละคร เพราะได้รับความนิยมที่สูงตั้งแต่ตอนแรก และมีเรื่องราวเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของความเป็นไทยสอดแทรกไปกับการดำเนินเรื่องของละคร ทำให้ผู้ชมได้ติดตามเรื่องราวที่สนุกสนานพร้อมกับความรู้สึกผูกพันกับความเป็นไทยอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องแต่งกายไทยสมัยอยุธยา อาหารไทย โบราณสถาน และที่สำคัญยังทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ช่วงปลายอยุธยา ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวในสถานที่ที่เกี่ยวกับละครได้รับความนิยมทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ละครเริ่มออกอากาศ โดยเฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นต้นเรื่องของละคร นอกจากนี้ละครพรหมลิขิตยังมีการจำหน่ายลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศและสตรีมในแพลตฟอร์มของต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการใช้คอนเทนต์และความบันเทิงเป็นเครื่องมือผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ว่า “ประเทศไทยมีมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างเป็นมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญและโดดเด่นกว่าประเทศใด โดยจากกระแสของละคร พรหมลิขิตที่ได้ออกอากาศทั้งในประเทศและสตรีมไปในหลายประเทศ ได้มีการเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้ผู้ชมได้เห็นและซึมซับความรู้สึกดี ๆ สามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกลับมาเที่ยวแหล่งโบราณสถานของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยถือเป็นการต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่น่าจับตามองเพราะสามารถที่จะสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศไทย เป็นการเพิ่มมูลค่าของโบราณสถานที่มีอยู่ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นก็เกิดรายได้ให้กับชุมชนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมเองก็มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือ “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ” นำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมยั่งยืน โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีกิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย การจัดเสวนาการส่งเสริม SOFT POWER ผ่านละคร “พรหมลิขิต” การแสดงและกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแต่งกายชุดไทยเข้าชมโบราณสถานยามค่ำคืน และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น เช่น ศิลปะ ดนตรี และออกแบบแฟชั่น อีกด้วย โดยในเบื้องต้นกรมศิลปากรจะดำเนินกิจกรรมนี้ในทุกวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และเทศกาลสำคัญเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวก็จะมีการขยายเวลาของกิจกรรมนี้ต่อไป และคาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นจุดหมายที่สำคัญแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างแน่นอน

ด้านนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมได้มีแนวทางการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ผลักดันสินค้าทางวัฒนธรรมสู่ตลาดโลก ใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือเผยแพร่ภาพลักษณ์สินค้าและบริการ รวมไปถึงผลิตคอนเทนต์คุณธรรมและเผยแพร่ทุกช่องทาง เช่น มิวสิควิดีโอและคอนเสิร์ตธงชัย แมคอินไตย สินค้าและบริการที่มีศักยภาพ 5f ได้แก่ Food (อาหาร) , Fashion (ออกแบบแฟชั่น) , Film (ภาพยนตร์), Festival (เทศกาลประเพณี) , Fighting (กีฬา) และ 5f Plus ได้แก่ ท่องเที่ยวชุมชน ศิลปะการแสดง ศิลปะ และต่อยอดไปสู่ 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ Film (ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ แอนิเมชั่น) , Food (อาหาร) , Fashion & Craft Design (แฟชั่นและงานคราฟท์), Sports (กีฬา) , Music (ดนตรี เพลง) , Tourism (ท่องเที่ยว) ,Publishing (หนังสือ), Art (ศิลปะและศิลปะการแสดง) , Design (ออกแบบ) , Game and Software (เกมและซอฟต์แวร์) และ Festival (เฟสติวัลระดับโลกและเทศกาลประเพณี) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง ได้แก่ 1.พัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ 2.ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการเจรจาธุรกิจ 3.ส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 4.ส่งเสริมความร่วมมือในการร่วมลงทุนระหว่างประเทศ และการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยและ 5. การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะช่วยขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ คือ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์งานในรูปแบบของภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชันที่สอดแทรกเนื้อหาด้านวัฒนธรรมหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งละคร พรหมลิขิต ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตแล้วยังสร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย”

ทางด้าน นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร บริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ละครพรหมลิขิต ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงตั้งแต่ก่อนออกอากาศและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มออกอากาศ โดยความนิยมนั้น นอกจากความสนุกสนานของละครแล้ว ละครยังสร้างกระแสความภาคภูมิใจให้กับคนไทยและสร้างความตื่นตาตื่นใจในกลุ่มผู้ชมต่างชาติ ในเรื่องเอกลักษณ์ความเป็นไทยในหลายด้าน ตั้งแต่การแต่งชุดไทย อาหาร และโบราณสถานที่อยู่ในละคร รวมถึงความรู้ประวัติศาสตร์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มีการจัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางสำหรับการผลักดันอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ให้เป็นหนึ่งในแกนหลักในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป”

นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนา ผู้จัด นักแสดง ยังได้ร่วมยลโฉมความงามของโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามยามค่ำคืน ที่ได้รับการประดับไฟอย่างสวยงาม และนักแสดง พรหมลิขิต ยังได้ร่วมถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานอีกด้วย