กรมทะเลชายฝั่ง จับมือ เอสซีจี และภาคีเครือข่าย สร้างบ้านปะการังด้วยวัสดุคอนกรีตเหลือใช้ ภายใต้นวัตกรรม 3D Printing เร่งฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลฝั่งอันดามัน

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ผอ.กอท.) เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) โดย CPAC Green Solution บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดวางวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing จำนวน 88 ชุด ในบริเวณแนวปะการังที่เสื่อมโทรมพื้นที่อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับมอบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังจากบริษัทไทยยูเนี่ยน ภายใต้โครงการรักษ์ทะเล ในการจัดวางครั้งนี้ได้มีผู้บริหารจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาทิ นายวีระพันธุ์ ทองมาก ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล เป็นผู้แทนในการรับมอบ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 รวมถึงผู้บริหารจากหน่วยงานพันธมิตรอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทเอสซีจี โดย CPAC Green Solution และผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนอาสาสมัครนักดำน้ำ ผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ และนักดำน้ำอาสาสมัครชาวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมกิจกรรม

นายอุกกฤต ผอ.กอท. กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แนวปะการังเกาะราชาใหญ่อ่าวสยาม จังหวัดภูเก็ต มีประมาณ 50 ไร่ จากการสำรวจสภาพโดยทั่วไปในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรม บางบริเวณสูญเสียพื้นที่อย่างถาวรเหลือแต่พื้นทราย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุทั้งจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ การทิ้งสมอเรือ และการฟอกขาวของปะการังตามธรรมชาติ และสามารถฟื้นตัวเองได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงเกาะของตัวอ่อน การเจริญเติบโตของปะการัง การเพิ่มขึ้นของตะกอน และกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รบกวนการฟื้นตัวของปะการัง โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เดิมทีมีปะการังเขากวางหรือปะการังที่มีความเปราะบางแทรกปนอยู่กับปะการังโขด พบว่าเมื่อปะการังเหล่านี้ตายก็จะเหลือซากที่เป็นหินปูน และนานวันเข้าก็จะผุกร่อนหักยุบตัวลงเป็นเศษชิ้นส่วนเล็ก โดยปกติซากปะการังเหล่านี้ก็จะเป็นฐานสำหรับให้ตัวอ่อนปะการังที่มีอยู่ตามธรรมชาติลงเกาะและเจริญเติบโตต่อไปได้ อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในช่วงที่ยังไม่มีตัวอ่อนลงเกาะหรือเคลือบซาก เมื่อมีคลื่นก็จะถูกคลื่นซัดขึ้นบนฝั่งหรือออกไปนอกแนวปะการังในที่น้ำลึก ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีเศษปะการังกลายเป็นพื้นทรายและไม่เหมาะกับที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ เนื่องจากจะต้องเป็นพื้นที่แข็งเท่านั้น อีกทั้งต้องเป็นพื้นที่เกาะราชาใหญ่โดยเฉพาะอ่าวต่างๆ รวมถึงอ่าวสยามที่เป็นจุดสอนดำน้ำ จุดท่องเที่ยวดำน้ำลึก ดำน้ำแบบไทรยไดฟ์ที่มีนักท่องเที่ยวลงแต่ละวันเป็นจำนวนมาก พื้นที่ที่เคยเป็นเศษซากปะการังหรือพื้นทรายเหล่านี้จะถูกเหยียบย่ำรบกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีตัวอ่อนไม่สามารถลงเกาะและเติบโตได้ จึงจำเป็นต้องปรับพื้นทะเลหรือพื้นทรายที่แทรกอยู่ระหว่างแนวปะการังให้เหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อน

ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้ดำเนินการฟื้นฟูปะการังทั้งการปลูกปะการังและการจัดวางฐานลงเกาะรูปแบบต่างๆ เช่น รูปโดม สี่เหลี่ยม หรือการวาอิฐบล็อกในพื้นที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่เกาะราชาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้วัสดุที่วางลงไปมีสภาพไม่สวยงามอยู่กับแนวปะการัง จึงได้คิดค้นหาวิธีการที่จะหาวัสดุที่มีสภาพกลมกลืน สวยงาม หรือใกล้เคียงกับแนวปะการังธรรมชาติมาจัดวาง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับบริษัท เอสซีจี โดย CPAC Green Solution และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้วัสดุคอนกรีตที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ซึ่งออกแบบจำลองรูปทรงของปะการังธรรมชาติชนิดต่างๆ โดยมีแนวคิดในการใช้รูปทรงที่มีลักษณะกลมกลืนกับธรรมชาติ มีความแข็งแรง คงทน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความซับซ้อนของการเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ที่สำคัญมีน้ำหนักไม่มาก สามารถติดตั้ง ขนย้ายได้สะดวก และประหยัดงบประมาณอีกด้วย นอกจากนี้ จะมีการดำเนินการตามแผนแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเริ่มต้นจากปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี ปะการังจึงจะเริ่มลงเกาะตามวัสดุที่จัดวาง อย่างไรก็ตาม หลังจากการจัดวางในครั้งนี้สำเร็จ กรม ทช. จะมีแนวทางในการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักดำน้ำอาสาสมัครในพื้นที่ร่วมเก็บเศษชิ้นส่วนปะการังที่แตกหักอยู่ตามพื้นที่และยังมีชีวิตอยู่ไปติดบนฐาน ซึ่งเรียกว่าการปลูกปะการัง จะช่วยให้ฐานเหล่านี้มีปะการังลงเกาะและจะปกคลุมวัสดุได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้จะมีการติดตามโครงการดังกล่าวเป็นระยะๆ อีกทั้งจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำน้ำในพื้นที่ ซึ่งมีนักดำน้ำที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรม ทช. สามารถจัดกิจกรรมนำนักท่องเที่ยวมาปลูกปะการังในพื้นที่ โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่กรม ทช. ตามกฎหมายต่อไป “นายอุกกฤต ผอ.กอท. กล่าวทิ้งท้าย”