DITP เดินหน้านโยบาย Local to Global จับมือรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น พัฒนา SMEs ไทยขยายตลาด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์  เดินหน้านโนบาย Local to Global ร่วมมือรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ พัฒนา SMEs ไทยขยายตลาดญี่ปุ่น พร้อมเผยผลสำเร็จงานเจรจาการค้าสินค้าแฟชั่น นครโอซากา ทะลุเป้า 66 ล้านบาท

นางสาวบรรจงจิตต์  อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เดินทางเยือนประเทศประญี่ปุ่น เพื่อเข้าพบและหารือกับนายโยชิโนบุ นิซากะ (Mr. Yoshinobu Nisaka) ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านต่างๆ ที่จะรองรับการค้าการลงทุนจากญี่ปุ่น และเป็นสปริงบอร์ดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย การเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเพื่อต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตอย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้เข้าพบหารือกับผู้ประกอบการจังหวัดวากายามะ ที่มีความโดดเด่นในการแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น บริษัท Sowa Kajuen (ผลิตภัณฑ์จากส้ม) และบริษัท Nakata Shokuhin (ผลิตภัณฑ์จากบ๊วย) เพื่อศึกษานวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสินค้าเกษตรแปรรูป รวมทั้งเข้าพบหารือกับบริษัท Kobe Suma Kirakuen เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุแบบครบวงจร และศูนย์ส่งเสริมความรู้เชิงความคิดสร้างสรรค์เพื่อธุรกิจ Start-up “Knowledge Capital Association”

ในโอกาสนี้ กรมยังได้นำคณะผู้ประกอบการไทยสินค้าแฟชั่นกว่า 40 บริษัทเจาะตลาดญี่ปุ่น ณ นครโอซากา ภายใต้กิจกรรมเจรจาการค้า “Thai Fashion & Textile Fair in OSAKA (TFTO)” เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจญี่ปุ่นได้พบ และเจรจาการค้ากับผู้ผลิตและส่งออกสินค้าแฟชั่นไทยที่มีคุณภาพโดยตรง ว่าประสบผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

“กิจกรรมการเจรจาธุรกิจเจาะตลาดญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมการตลาดที่กรมดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ซึ่งปีนี้ ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 43 บริษัท ประกอบด้วย สินค้าสิ่งทอ 14 ราย เสื้อผ้าสำเร็จรูป 13 บริษัท และกระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ อีก 16 ราย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ได้พบผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นตามเป้าหมายกว่า 300 ราย ผลการเจรจาการค้าประมาณ 66,998,000 บาท แบ่งเป็นมูลค่าการสั่งซื้อทันที 8 ล้านบาท และภายใน 1 ปี 58 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ เส้นด้ายทำจากฝ้าย/ไหมอีรี่ ผ้าถัก เสื้อผ้าฝ้าย เส้นใยนวัตกรรมป้องกันแบคทีเรีย เครื่องประดับทำจากแก้ว เป็นต้น” นางบรรจงจิตต์กล่าว

อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละจำนวนมาก และญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการนำกลับมาใช้ใหม่ สินค้าที่เน้นสีสันธรรมชาติ โทนสีอบอุ่น ใส่สบาย รวมทั้งผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ (Functional Textile) เช่น ป้องกันแบคทีเรีย ระบายเหงื่อ กันรอยเปื้อน เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2561 สินค้าแฟชั่นมีมูลค่าส่งออกรวม 9,215 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ สินค้าสิ่งทอ มูลค่า 6,886.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าเครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทางและรองเท้า มูลค่า 1,827.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้าเครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ มูลค่า 500.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 8

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการเจรจาการค้าและเปิดตลาดสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และบุคคลทั่วไปที่ติดตามนวัตกรรมสินค้าแฟชั่นของไทยที่สามารถไปไกลสู่ตลาดโลกได้ สามารถเข้าร่วมงาน STYLE Bangkok October 2019 งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่รวมสามงานใหญ่ไว้ในงานเดียว (BIFF&BIL, BIG+BIH และ TIFF) ครอบคลุมสินค้าตั้งแต่สินค้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน ของขวัญและเฟอร์นิเจอร์ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 ตุลาคม 2562 นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.stylebangkokfair.com หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

********************************************************

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ