เกาะเต่า ขวดเบียร์ลดลง 80%

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นโมลเดลนำร่องในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ พัฒนาระบบขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) และระบบจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมการท่องเที่ยว มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เทศบาลตำบลเกาะเต่า สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า และชมรมรักษ์เกาะเต่า ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า หลังการลงนามความร่วมมือ เทศบาลตำบลเกาะเต่า ได้ออกเทศบัญญัติตำบลเกาะเต่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ในการเปลี่ยนจากขวดแก้วเบียร์เป็นกระป๋องอลูมิเนียม เพื่อให้เกิดการเรียกคืนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ง่าย ลดปริมาณขยะขวดแก้วที่จะต้องเป็นภาระและค่าใช้จ่ายของเทศบาล ในการกำจัด ซึ่งผลการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นที่น่าพอใจ ในกรณีที่ผู้ประกอบการยังคงยืนยันจะขายเบียร์ขวด กรมควบคุมมลพิษจะมีการขอให้ใช้มาตรการในการเรียกขวดเบียร์คืนกลับไปยังร้านค้าที่จำหน่ายทั้งหมด โดยจะต้องนำเก็บไปจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

นายวัชรินทร์ ฟ้าสิริพร นายกเทศบาลตำบลเกาะเต่า กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการลงนาม MOU เทศบาลตำบลเกาะเต่าได้ร่วมแก้ไขปัญหาการจัดการขยะประเภทขวดแก้วอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นปัญหาในการจัดการในภาพรวม และต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ที่จะให้เกาะเต่าเป็นโมเดลนำร่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่อ่าวไทย โดยจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิ 3R ในช่วง 2 เดือน พบว่า ขยะขวดแก้วได้ลดลงจากเฉลี่ย 5 ตันต่อวัน เหลือเพียง 1 ตันต่อวันเท่านั้น ซึ่งช่วยลดภาระของเทศบาลฯ ในการจัดการขยะได้จำนวนมาก ทั้งนี้ จากการสำรวจร้านค้าต่าง ๆ ทั้งร้านขายส่ง ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้าน 7-11 ต่างให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากขวดเบียร์เป็นกระป๋องอลูมิเนียม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีร้านค้าบางแห่งที่ยังคงจำหน่ายขวดเบียร์อยู่ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและกรมควบคุมมลพิษ ต่อไป