นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา การรถไฟฯ โดยฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ฝ่ายบริการโดยสารและศูนย์ประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) นำคณะนักเรียนและครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จากจังหวัดนราธิวาส 5 โรงเรียน รวม 170 คน ประกอบด้วย 1.โรงเรียนบ้านตอแล 2.โรงเรียนบ้านทุ่งคา 3.โรงเรียนบ้านสะโล 4.โรงเรียนบ้านมะรือโบตก 5.โรงเรียนบ้านตาดีกามูฮำมาดียะ บ้านสะโลว์บูกิ๊ตยือแร เดินทางทัศนศึกษาเส้นทางรถไฟ สุไหงโกลก-ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน และเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตในการเดินทางรถไฟ ตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มอบหมายให้การรถไฟฯ เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และส่งเสริมให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างเท่าเทียมกัน
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นผลจากที่การรถไฟฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ลงพื้นที่ทำกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับพี่น้องชาวไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลตันหยงมัส บ้านมะรือโบตก บ้านสะโลว์ บ้านสะโลว์บูกิ๊ตยือแร จังหวัดนราธิวาส ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ โดยใช้แนวทางกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จนสามารถต่อยอดสู่การจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน ได้เดินทางทัศนศึกษาโดยรถไฟ รุ่นที่ 2 ขึ้น”
นายเอกรัช กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมทัศนศึกษาครั้งนี้ คณะนักเรียนและครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้เริ่มต้น ด้วยการนั่งรถไฟจากสถานีสุไหงโกลก ไปยังสถานีประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ณ กองบิน 5 กองทัพอากาศ พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์อุทยานประวัติศาสตร์ อาคารประวัติสงคราม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และเชิดชูเกียรติประวัติการต่อสู้ของนักรบกองบินน้อยที่ 5 กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบก ณ อ่าวมะนาว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
จากนั้นได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ ที่จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลายตามระบบนิเวศของแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำจืด และแหล่งน้ำกร่อย ประกอบด้วยพื้นที่ 6 โซน ได้แก่ โซนอัศจรรย์โลกสีคราม โซนจากขุนเขาสู่สายน้ำ โซนสีสันแห่งท้องทะเล โซนเปิดโลกใต้ทะเล โซนพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และโซนกิจกรรมปฏิบัติการ ซึ่งทุกกิจกรรมได้สร้างความประทับใจ และรอยยิ้มแก่น้องๆ นักเรียนทุกคนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตจริงในการเดินทางโดยรถไฟ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีระเบียบ ตลอดจนนำไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านในชุมชนใช้ประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า
“ที่สำคัญยังเป็นการช่วยปลูกฝังให้เยาวชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความรู้สึกผูกพัน สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างชุมชนกับการรถไฟฯ ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข “ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการรถไฟฯ ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนทำให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างเท่าเทียมกันต่อไป”