จ.พระนครศรีอยุธยา: กรมโยธาธิการและผังเมือง ส่งเรือกำจัดผักตบชวา บูรณาการร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Kick off กำจัดวัชพืชและผักตบชวา ในแม่น้ำลำคลองสายหลัก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างเต็มศักยภาพ นำร่องคลองระพีพัฒน์แยกตก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ณ วัดลำพระยา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำสาธารณะต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ผักตบชวาและวัชพืชสะสม สร้างปัญหาการสัญจรทางน้ำและการระบายน้ำ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการเครื่องมือเครื่องจักรร่วมกันแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชทั่วประเทศ
โดยล่าสุด กรมฯ ได้ส่งเรือกำจัดผักตบชวาแบบตักหน้า จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำเรือ บูรณาการร่วมกับเครื่องจักร/อุปกรณ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้นำชุมชน ประชาชนจิตอาสา กำลังพลจิตอาสาของกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ ดำเนินกิจกรรม Kick off กำจัดวัชพืชและผักตบชวา นำร่องคลองระพีพัฒน์แยกตก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ในกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” และสนับสนุนเรือกำจัดผักตบชวาแบบสายพานลำเลียง จำนวน 1 ลำ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งในระยะแรกดำเนินการจำนวน 17 จุด ทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่คลองระพีพัฒน์แยกตก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ณ วัดลำพระยา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจุด Kick off ในการดำเนินกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีอีก 16 จุด ทั่วประเทศ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา ชลบุรี ลพบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส และจะขยายผลการจัดกิจกรรมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในพื้นที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำลำคลอง มีความจำเป็นต้องใช้การสัญจรทางน้ำ ใช้น้ำเพื่อการเกษตร และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันการเกิดน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝน ในขณะเดียวกันก็หาแนวทางร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในการนำผักตบชวากลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จักรสาน อาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนต่อไป