รองนายกฯ สมศักดิ์ เผยน้ำ EEC มีเพียงพอ เชื่อมั่นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยลดผลกระทบเอลนีโญ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามข้อห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนน้ำภาคอุตสาหกรรมจากสถานการณ์เอลนีโญ พบว่า แม้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่ EEC จะมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากในช่วงปลายฤดูฝนมีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้ฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกทั้ง 6 แห่ง มีปริมาณน้ำ 82% ของปริมาณความจุ ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม โดยได้เน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในการเชื่อมโยงแหล่งน้ำแต่ละแห่งในลักษณะอ่างพวงให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทนช. มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนรองรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีการสูบผันน้ำผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกเพื่อเติมน้ำทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต-คลองพานทอง-อ่างเก็บน้ำบางพระ การสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล การสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ การสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ และการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่

นอกจากนี้ ได้กำชับให้ สทนช. บริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศโดยไม่ประมาท แม้ว่าขณะนี้อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ จะมีสถานการณ์ดีขึ้นจากฝนปลายฤดูดังกล่าว โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 80% ของความจุ แต่ยังคงต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดสรรน้ำซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยสั่งการให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรม ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

1. เพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา

2. เพื่อการรักษาระบบนิเวศ

3. เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567

4. เพื่อการเกษตร

5. เพื่อการอุตสาหกรรม

6. เพื่อการพาณิชย์และท่องเที่ยว

รวมถึงให้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างเคร่งครัด โดยเชื่อมั่นว่าการเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำของภาครัฐภายใต้สถานการณ์เอลนีโญ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูฝนส่งต่อสู่ฤดูแล้ง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำของประเทศไทยมีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก โดยปัจจุบัน (13 พ.ย. 66) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ในภาคตะวันออก มีจำนวน 4 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 100% ของความจุ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาณน้ำ 164 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของความจุ อ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำ 282 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 96% ของความจุ และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำ 276 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% ของความจุ ส่วนอีก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำบางพระ มีปริมาณน้ำ 84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ของความจุ อยู่ในเกณฑ์ดี และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำ 161 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% ของความจุ อยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดย สทนช. จะบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และจะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

“แม้สถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวหรือเป็นช่วงฤดูแล้งตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือน แต่ด้วยการเตรียมความพร้อมในการรับมือเอลนีโญและการดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ผนวกกับมีฝนตกในช่วงปลายฤดูต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงคาดว่าจะช่วยคลี่คลายความรุนแรงของสถานการณ์เอลนีโญลงในบางส่วน

อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้มีการสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ถึงสถานการณ์เอลนีโญและแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ซึ่งจะช่วยรักษาน้ำต้นทุนของประเทศ สำรองไว้ใช้ในช่วงที่มีปริมาณฝนตกน้อย ควบคู่ไปกับการวางแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมของภาครัฐเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในระยะยาว ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เพียงพอกับความต้องการ แต่ต้องเน้นย้ำในเรื่องความไม่ประมาท ทั้งนี้ คาดว่าเอลนีโญจะมีกําลังอ่อนลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำในตอนท้าย