พม.ตรังเดินหน้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางจังหวัดตรัง ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องมรกต ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตรัง โดยมี นายสกุล ดำรงเกียรติกุล ปลัดจังหวัดตรัง รักษาราชการแทนรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าว นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง

โดยมี นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะคณะทำงาน และเป็นหน่วยงานหลักที่รับหน้าที่เป็นคณะทำงานและเลขานุการ ตามคำสั่งจังหวัดตรัง เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางจังหวัดตรัง ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ซึ่ง วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมในวันนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟในจังหวัดตรัง และพิจารณาแผนการขับเคลื่อนงานฯ ในปี 2566 – 2567 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะทำงานจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผูเ้นำท้องที่ท้องถิ่น และเครือข่ายพัฒนาสิทธิชุมชนภาคใต้ รวมจำนวน 40 คน


นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า แนวทางในการดำเนินโครงการสนับสนุนเพื่อการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้อนุมัติแผนงานและงบประมาณโครงการ สนับสนุนการขับเคลื่อนงานชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง จำนวน 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน งบประมาณ 7,718 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ภาคใต้ 9 จังหวัด 73 เมือง 171 ชุมชน 15,168 ครัวเรือน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง สร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทุกมิติที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และสามารถพัฒนาให้เป็นรูปธรรม/ความสัมพันธ์ในแนวราบ ระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ

นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับจังหวัดตรังมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ใน 4 อำเภอ 14 ตำบล 26 ชุมชน 1,882 ครัวเรือน โดยเป็นอำเภอห้วยยอด 12 ชุมชน 731 ครัวเรือน อำเภอกันตัง 8 ชุมชน 731 ครัวเรือน อำเภอเมือง 4 ชุมชน 331 ครัวเรือนและอำเภอรัชดา 2 ชุมชน 380 ครัวเรือน โดยในปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับสัญญาเช่าจากการรถไฟประเทศไทยแล้วและได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างเตรียมการเบิกจ่ายงบประมาณ และคาดว่าน่าจะดำเนินการก่อสร้างชุมชนได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ ประกอบไปด้วย อำเภอเมือง 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหนองยวน 2 จำนวน 29 ครัวเรือน อำเภอห้วยยอด 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา (ลำภูลา) จำนวน 72 ครัวเรือน และชุมชนทางล้อ จำนวน 16 ครัวเรือน และอำเภอรัษฎา 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองมวน จำนวน 48 ครัวเรือน ทั้งนี้ ในปี 2567 มีแผนจะดำเนินการใน 8 ชุมชน จำนวน 640 ครัวเรือน เพื่อดำเนินการตามแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพนันระบบรางต่อไป

สุดท้ายนี้ นางสาวโสพิญฐ์ ได้กล่าวเน้นย้ำว่างานพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยเป็นงานสำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ได้รับผลกระทบในด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ดังนั้นจึงต้องมีการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการช่วยกันผู้ได้รับผลกระทบ เน้นไปถึงการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงให้กับมนุษย์ ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย และด้านที่ดินทำกิน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างร้ายได้ในทุกมิติต่อไป