รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 บัญญัติรับรองความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติทั้งปวงด้วยเหตุแห่งความพิการ การเคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด รวมทั้งการมีส่วนร่วมของคนพิการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในสังคม โดยคนพิการจะต้องได้รับการปฏิบัติจากบุคคล องค์กรเอกชน และหน่วยงานของรัฐ อย่างเป็นธรรม การออกกฎหมาย ระเบียบ นโยบาย มาตรการ หรือคำสั่งใด ๆ ในทางที่จะเป็นการเลือกปฏิบัติทางตรงหรือทางอ้อมต่อคนพิการจะกระทำไม่ได้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการและได้ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิของคนพิการในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า คนพิการยังต้องเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิตหลายประการ เช่น มีอุปสรรคในการเดินทางเนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพและการขนส่งสาธารณะไม่เอื้ออำนวย คนพิการทางการเห็นประสบปัญหาการเข้าถึงและใช้งานแอปพลิเคชันธนาคาร (mobile banking) หน่วยงานของรัฐยังจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจากปัญหากรอบอัตรากำลังไม่เพียงพอ และอาคารของส่วนราชการโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคไม่สามารถปรับปรุงให้เอื้ออำนวยต่อการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการปฏิบัติงานของผู้พิการได้ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ และลิฟต์ นอกจากนี้ เบี้ยคนพิการจำนวน 800 บาท ต่อเดือนยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการดูแลสุขอนามัยของคนพิการด้วย
เนื่องในโอกาสที่ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนพฤศจิกายนเป็นวัน “คนพิการแห่งชาติ” ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน กสม. ขอรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตระหนักถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของคนพิการ โดยสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่งสาธารณะ และระบบอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการธุรกรรมทางการเงินสำหรับคนพิการให้มีความก้าวหน้าขึ้น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมีรายละเอียดที่ครอบคลุมความหลากหลายของคนพิการทุกกลุ่มทั้งสตรีและเด็กพิการ ทั้งนี้ เพื่อให้คนพิการทุกประเภทดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพในทุกด้านของการดำเนินชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันถือเป็นการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิดและเป็นการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ