วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 สำนักเครื่องจักรกล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
จากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อน ทำให้ปัจจุบัน (6 พ.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 61,362 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 37,420 ล้าน ลบ.ม. (71% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 18,159 ล้าน ลบ.ม. (73% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 11,463 ล้าน ลบ.ม. (63% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)
กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 66/67 ทั้งประเทศตามปริมาณน้ำต้นทุนรวม 40,387 ล้าน ลบ.ม. โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวม 21,810 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝน (พ.ค.- ส.ค.67) รวม 18,577 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 813 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำรวม 6,100 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำต้นทุน 11,085 ล้าน ลบ.ม. โดยได้จัดสรรไปแล้ว 120 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของแผนฯ
ทั้งนี้ ได้เข้าสู่ฤดูแล้งของพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางแล้ว จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำ พร้อมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชน ให้สามารถมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 66/67 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นำสถิติปริมาณฝนและปริมาณน้ำจากปีที่ผ่านมามาเป็นแนวทางในการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด