องคมนตรีติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 มอบหมายให้ นายประภาส เข็มรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจันทบุรี และนายสหัสชัย ปริวัตรพันธ์ หัวหน้าฝ่ายโครงการพิเศษ ส่วนแผนงาน เข้าร่วมการติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ของพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแห้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

ในการนี้องคมนตรีรับฟัง บรรยายรายงานสรุปความเป็นมา ผลการดำเนินงาน จากนายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา ผู้แทนกรมชลประทาน และนายปิยะ ลืออุติกุลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 9 ทั้งนี้องคมนตรีได้ให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการฯ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการฯ ต่อไป

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแห้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี สร้างขึ้นเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานทำการศึกษาวางโครงการและพิจารณาก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือสวนผลไม้ ในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมักขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี

ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแห้ง ถูกบรรจุอยู่ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี มีลักษณะโครงการเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type) ความยาว 218 เมตร ความสูง 37.00 เมตร ความจุเก็บกัก 3.46 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับเก็บกัก +58.00 เมตร (รทก.) ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยไหลลงอ่าง 10.34 ล้านลูกบาศก์เมตร อาคารระบายน้ำล้นชนิด Side Channel ระบายน้ำได้สูงสุด 151.44 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมระบายน้ำได้สูงสุด 40.55 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน จำนวน 3.40 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน จำนวน 4,300 ไร่ รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดให้ราษฎรสามารถทำการประมงเพื่อเป็นรายได้เสริม อีกด้วย