กรมชลประทาน ยืนยันอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และพื้นที่ EEC มีน้ำเพียงพอแน่นอน หลังกรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมาตรการรับมือปรากฎการณ์เอลนิโน ด้วยการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ มาเติมในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุน รองรับการใช้น้ำ และป้องกันปัญหาภัยแล้ง ปี 2566/67
บ่ายวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 1 ใน 11 อ่างเก็บน้ำ ในโครงข่ายรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายวัชระ พรหมคุณาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชลบุรี นายจิรพงษ์ ศาตร์แย้ม ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และสรุปผลการดำเนินงาน ณ สถานีสูบน้ำดิบหนองปลาไหล ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในโครงข่ายน้ำ EEC ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 624 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC โดยกรมชลประทาน ได้มีการผันน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม รวม 130 ล้านลบ.ม.
อาทิ
1. การสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำ 5.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของแผน
2. การสูบกลับจากคลองสะพาน มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำ 7.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของแผน
3. การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาเติมอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำ 44.23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 79 % ของแผน
4. การสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ฯ มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำ 43.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75 % ของแผน
5. การสูบผันน้ำจากคลองพานทอง มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำ 2.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75 % ของแผน
6. การสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ (EW) ปริมาณน้ำ 24.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83 % ของแผน
7. การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล (EW) ปริมาณน้ำ 4.04 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34 % ของแผน
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำอ่างฯ หนองปลาไหล 1 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำ และสูบผันน้ำตามแผนของกรมชลประทาน พร้อมกำชับให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำตามแผนจัดสรรน้ำที่วางไว้ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่เศรษฐกิจ EEC ได้อย่างยั่งยืนต่อไป