วช. โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย และเครือข่าย จัดประชุมการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 4 มุ่งเป้าพัฒนาไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในเวทีโลก

วันที่ 3 พ.ย. 66 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย จัดการประชุมเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (NRCT’s Microelectronics Consortium) ครั้งที่ 4 เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างการทำงานของหน่วยงานระดับนโยบาย พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้านการวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุม ภายในงานฯ ศ.(กิตติคุณ) นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “บริบทอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์กับก้าวต่อไปของประเทศไทย” และ Prof. Robert Bogdan Staszewski แห่ง University College Dublin, Ireland บรรยายพิเศษ เรื่อง “Once In a Lifetime Opportunity: Mixed-Signal and Quantum Computing Shaping Thai IC Innovation” ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม อาทิคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ประชุมอธิการบดี นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. และหน่วยงานเครือข่าย อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรม จากการจัดประชุมเครือข่ายที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง ก่อให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย” (Thailand Hub of Talents in Microelectronic Designed: THTMD) ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่มีพันธกิจในการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนากำลังคน สร้างเครือข่ายการทำงานแบบเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการอย่างต่อเนื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ และเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ

ภายในการประชุมดังกล่าว มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “บริบทอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์กับก้าวต่อไปของประเทศไทย” โดย ศ.(กิตติคุณ) นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “Once In a Lifetime Opportunity: Mixed-Signal and Quantum Computing Shaping Thai IC Innovation” โดย Prof. Robert Bogdan Staszewski แห่ง University College Dublin, Ireland พร้อมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมการสร้างเครือข่ายและรายงานการดำเนินการของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย โดย รศ.ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม ผู้ประสานงานหลัก ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย

การจัดตั้งศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการกำหนดเส้นทางแห่งการร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนภาควิชาการด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย รวมถึงการลงนามความร่วมมือระหว่าง วช. และ 13 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยกาพสินธุ์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีการแสดงเจตจำนงการลงนามความร่วมมือในมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการเชื่อมต่อองค์ความรู้และทรัพยากรระหว่างสถาบันการศึกษา และตอบสนองต่อความต้องการในด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนอย่างบูรณาการ

ทั้งนี้ การประชุมเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (NRCT’s Microelectronics Consortium) ครั้งที่ 4 จะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างการทำงานของหน่วยงานระดับนโยบาย พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้านการวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการกระตุ้นและเป็นแรงดึงดูดในการมีความร่วมมือระหว่างประเทศและต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ยังเป็นการพัฒนาอนาคตของประเทศไทยด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในเวทีโลกด้วย