กรมชลประทานเริ่มปรับลดการระบายน้ำเขื่อนใหญ่ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา หลังจากเริ่มมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ จึงปรับแผนการบริหารจัดการน้ำใหม่ โดยจะเก็บกักน้ำไว้ให้มากขึ้นเพื่อให้น้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานได้เริ่มปรับลดการระบายน้ำเขื่อนใหญ่ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ทั้งนี้เพื่อจะเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการในฤดูแล้งซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 30 เมษายน 2563 เป็นเวลา 6 เดือนและต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้าตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึง กรกฎาคม 2563 อีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือน
ทั้งนี้จากสภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานทำให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้แม่น้ำสายหลักสูบน้ำไปใช้เป็นปริมาณมาก ขณะที่กรมชลประทานจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากระบบชลประทานเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและพื้นที่เกษตรที่อยู่ท้ายน้ำทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนหลักลดลงกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เกรงว่า หากฝนในปลายฤดูตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำจึงมอบหมายให้กรมชลประทานปรับแผนลดการระบายน้ำลง ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้ใช้สถิติน้ำไหลลงอ่างของ 4 เขื่อนใหญ่ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีฝนน้อยมาเทียบเคียง โดยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฏาคม ถึง 31 ตุลาคม 2558 มีน้ำไหลลงอ่างรวม 5,231 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นคาดการณ์การจัดสรรน้ำในฤดูฝนที่เหลือ ตั้งแต่ 16 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคม 2562 จะมีความต้องการน้ำ 2,066 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 62 จะคงเหลือน้ำใช้การได้ 4,904 ล้าน ลบ.ม.
นายทองเปลวฯ กล่าวว่า เมื่อคำนวณความต้องการน้ำขั้นต่ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ โดยไม่รวมภาคการเกษตรจะใช้ประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. หากต้องวางแผนการใช้น้ำตั้งแต่เริ่มฤดูแล้งต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้ารวมทั้งสิ้น 9 เดือนคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมีประมาณ 5,040 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำใช้การได้ที่เหลือ 4,904 ล้าน ลบ.ม. จึงพบว่า ลุ่มเจ้าพระยายังขาดน้ำอีก 136 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสนทช. ให้ความเห็นว่า กรมชลประทานต้องประหยัดน้ำให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้านลบ. ม. กรมชลประทานจึงปรับแผนการจัดสรรน้ำใหม่ จากเดิมจะจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 2,066 ล้าน ลบ.ม. ลดลงเหลือ 1,766 ล้าน ลบ.ม.
นายทองเปลวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมชลประทานเริ่มลดปริมาณการระบายน้ำลง โดยเขื่อนภูมิพลจากระบายวันละ 23.29 ล้าน ลบ.ม. เหลือวันละ 21 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์จากระบายวันละ 19.09 ล้าน ลบ.ม. เหลือวันละ 18.39 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากระบายวันละ 700,000 ลบ.ม. ลดเหลือวันละ 440,000 ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนยังคงการระบายที่ 2.16 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ฝนเริ่มตกลงมาในหลายพื้นที่ อีกทั้งจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมคมถึงปลายเดือนกันยายนฝนจะตกใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ซึ่งหากเป็นไปตามนี้พื้นที่เกษตรจะมีความชุ่มชื้นทำให้พืชสำคัญในลุ่มเจ้าพระยาคือ นาข้าวฟื้นตัวได้ แต่จะยังส่งน้ำให้โดยวิธีจัดรอบเวรอย่างเคร่งครัด อีกทั้งกำหนดรอบเวรสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สูบน้ำจากแม่น้ำสายหลักให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้หากทุกภาคส่วนรักษากติกาการรับน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มั่นใจว่า จากนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563 น้ำจะมีเพียงพออย่างแน่นอน
**************************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์