กสม. ชี้กรณีสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น และคืนรายการทะเบียนราษฎรล่าช้า

กสม. ชี้กรณีสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น และคืนรายการทะเบียนราษฎรล่าช้า กระทบต่อสิทธิสถานะบุคคลตามกฎหมาย – สำนักงาน กสม. ภาคอีสาน ร่วมจังหวัดขอนแก่น – ร้อยเอ็ด วางแนวทางขับเคลื่อนกลไกสิทธิมนุษยชนระดับพื้นที่

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 40/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ชี้กรณีสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น รวมทั้งคืนรายการทะเบียนราษฎรล่าช้า กระทบต่อสิทธิสถานะบุคคล แนะกรมการปกครองเร่งแก้ไข

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 2 คำร้องเกี่ยวข้องกับสิทธิและสถานะบุคคล ดังนี้ คำร้องแรก เป็นกรณีการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรของผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ซึ่งถูกจำหน่ายชื่อออกจากรายการทะเบียนราษฎร ตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 โดยเมื่อปี 2557 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองเพื่อขอคืนรายการทะเบียนราษฎร แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา เป็นเหตุให้ผู้ร้องร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และ กสม. เคยรับเรื่องนี้ไว้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักทะเบียนอำเภอฯ เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2565 อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้ร้องได้ร้องเรียนมายัง กสม. อีกครั้ง เนื่องจากสำนักทะเบียนอำเภอฯ ยังไม่ดำเนินการคืนรายการทะเบียนราษฎรให้ จึงขอให้ตรวจสอบ

คำร้องที่สองเมื่อเดือนมกราคม 2566 ผู้ร้องซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่นร้องเรียนว่า การขอทราบผลการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเป็นไปด้วยความล่าช้า โดยเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำขอให้พิสูจน์และรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง จนถึงวันที่ผู้ร้องร้องเรียนขอให้ กสม. ตรวจสอบและมีการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ เป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ผู้ร้องยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาแต่อย่างใด จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องทั้งสองกรณี หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอของบุคคลผู้ร้องเรียนล่าช้าย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหนตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงคำร้องแรก กรณีการขอคืนรายการทะเบียนราษฎรล่าช้า กสม. เห็นว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านบุคลากรผู้ทำหน้าที่สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานที่มีไม่เพียงพอต่อจำนวนของบุคคลผู้ยื่นคำขอ รวมทั้งขั้นตอนการตรวจสอบ การสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและต้องคำนึงถึงมิติด้านความมั่นคงประกอบด้วย จึงทำให้การพิจารณาคำขอแก้ไขข้อมูลด้านทะเบียนราษฎรต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ดี แม้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2562 จะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคำขอ การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งการแจ้งผลการพิจารณาไว้ แต่สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองระนอง ควรพิจารณาคำขอและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบภายในเวลาอันสมควร ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาที่วางแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งของหน่วยงานของรัฐไว้ว่า ควรมีระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่มีบุคคลยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้พิจารณาออกคำสั่ง โดยเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อสำนักงานทะเบียนอำเภอฯ เมื่อประมาณปี 2557 แต่สำนักงานทะเบียนอำเภอฯ กลับใช้เวลาตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนานเกินกว่า 8 ปี โดยยังไม่แจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลทุกคนที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับคำร้องที่สอง จากการตรวจสอบปรากฏว่า การพิจารณาคำขอเพื่อการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. 2555 โดยกำหนดกรอบระยะเวลาตั้งแต่การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอ สรุปผลการสอบสวน ส่งคำขอพร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้อธิบดีกรมการปกครองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบ และส่งความเห็นให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นพิจารณาคำขอ รวมเป็นระยะเวลาทั้งหมดหนึ่งร้อยสิบเก้าวัน การที่ผู้ร้องยื่นคำขอให้พิสูจน์และรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่นตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2558 กระทั่งปัจจุบันกระบวนการยังไม่แล้วเสร็จนั้น แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาการพิจารณาคำขอฯ ซึ่งถือเป็นการกระทำทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีนี้ ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ และใช้ระยะเวลาเกินสมควรแก่กรณี คือ นานกว่า 8 ปี อันกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องจะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน เช่นกัน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากกรณีคำร้องเรื่องสิทธิและสถานะบุคคลทั้งสองคำร้องข้างต้น สรุปได้ดังนี้

กรณีความล่าช้าในการพิจารณาคำขอคืนรายการทางทะเบียนราษฎร ให้สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนองเร่งรัดพิจารณาคำขอและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบโดยเร็ว และให้กรมการปกครองกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาคำขอให้ปรับปรุงแก้ไขรายการทางทะเบียนราษฎร ด้วยการแจ้งความคืบหน้าในการพิจารณาคำขอให้แก่บุคคลที่ยื่นคำร้องทราบเป็นระยะ พร้อมสนับสนุนอัตรากำลังมาทำหน้าที่ในการแก้ไขและตรวจสอบรายการทะเบียนราษฎรให้แก่ผู้ถูกร้องเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณงานด้านการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ ให้นำข้อเสนอแนะ ที่ 2/2564 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลกรณีการจำหน่ายรายการบุคคลจากข้อมูลทะเบียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง กสม. เคยให้ข้อเสนอแนะไว้แล้วมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ด้วย

กรณีความล่าช้าในการพิจารณาคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้สำนักทะเบียนอำเภอเมืองระนอง และสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เร่งรัดพิจารณาคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบโดยเร็ว รวมทั้งให้กำหนดแนวปฏิบัติในกระบวนการพิจารณาคำขอดังกล่าวและการแจ้งความคืบหน้าการพิจารณาคำขอให้แก่บุคคลที่ยื่นคำขอทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนและแก้ไขข้อจำกัดจากการปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. 2555 โดยบริหารจัดการหรือปรับเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงให้แก่เจ้าหน้าที่ และกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ต่อไปเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

2. สำนักงาน กสม. ภาคอีสาน ประสานความร่วมมือจังหวัดขอนแก่น – ร้อยเอ็ด วางแนวทางขับเคลื่อนกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับพื้นที่

นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น และเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 โดยมีการประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชน ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนและลงพื้นที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีแล้ว นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 กสม. โดย นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าพบและหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับจังหวัดขอนแก่น นำโดย นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยได้รับทราบผลการดำเนินงานที่สำคัญด้านสิทธิมนุษยชนของจังหวัดที่นำไปสู่การได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนในระดับดีเด่น 3 ปีซ้อน จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยได้มีการหารือและเห็นชอบที่จะสนับสนุนการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การมุ่งเน้นสร้างกลไกการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่รวดเร็วและเป็นธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด การวางแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนโดยเฉพาะในประเด็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน การส่งเสริมเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักในสิทธิมนุษยชน ตามแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดขอนแก่นที่ได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการสอดแทรกแผนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เพิ่มเติมภายใต้แผนปฏิบัติการจังหวัดหรือแผนปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ที่ประกอบด้วยกลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

ในวันเดียวกัน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ยังได้เข้าหารือร่วมกับนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับทราบผลการดำเนินงานสำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเปราะบาง ทั้งสิทธิด้านการสาธารณสุขและที่อยู่อาศัยของผู้ยากไร้ และการฟื้นฟูเยาวชนผู้ติดยาเสพติดโดยใช้กระบวนการชุมชนบำบัดภายใต้ชื่อ “หัวโทนโมเดล” ในการนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นสิทธิชุมชน โดยเห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่จะดำเนินการร่วมกับ กสม. โดยเฉพาะการฝึกอบรม การพัฒนาแกนนำด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ด้วย

“การพัฒนากลไกความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งในระดับจังหวัดและภูมิภาคเป็นสิ่งที่ กสม. ให้ความสำคัญ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมุ่งเน้นให้เกิดการประสานความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งมิติด้านการคุ้มครอง ส่งเสริม และเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงกลไกสิทธิมนุษยชนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพภายใต้การดำเนินงานที่สอดรับกันของหน่วยงานแต่ละภาคส่วนในพื้นที่” นายชนินทร์ กล่าว