วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางมาติดตามการดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื่นที่จังหวัดลำปาง โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายอาทิว ทุ่งเจ็ด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง นางสาวจันทร์จิรา อักษรณรงค์ ผู้อำนวยการส่วนติดตามและประเมินผล กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมโครงการ ตลอดจนพบปะราษฎรผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มสมุนไพรกระดูกไก่ดำ กลุ่มส่งเสริมอาชีพเศรษฐกิจพอเพียง (เพาะเห็ด) และกลุ่มผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มดอกไม้ผ้าใยบัว เป็นต้น ณ โครงการฝายทุ่งข้าวหล่อพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านโป่ง อำเภองาว จังหวัดลำปาง
สำหรับโครงการฝายทุ่งข้าวหล่อพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่ นายนวย กาถม ราษฎรบ้านทุ่งข้าวหล่อ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านโป่ง อำเภองาว จังหวัดลำปาง ขอพระราชทานโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำเกษตรในฤดูแล้งและฤดูฝน ซึ่งกรมชลประทานได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ทำให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลบ้านโป่งและตำบลหลวงใต้ มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 4,450 ไร่
ทั้งนี้ โครงการฝายทุ่งข้าวหล่อพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำงาว จังหวัดลำปาง ซึ่งกรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว 10 โครงการ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 9 โครงการ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง และฝายทดน้ำ 6 แห่ง นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางแผนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในอนาคต โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มอีก 6 แห่ง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 แห่ง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี สร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ได้อย่างปราณีตและทั่วถึง