กรมประมง…เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่ประสบอุทกภัย 35 จังหวัด พร้อมชดเชยเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ด้วยร่องมรสุมกำลังแรงพัดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 2 กันยายน – 20 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงฐานการผลิตได้รับผลกระทบ ผลผลิตสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย เนื่องจากรอบระยะเวลาการเลี้ยงสัตว์น้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการสร้างรายได้ตามที่ควรจะได้รับและขาดแคลนอาหารเพื่อการบริโภคในขณะประสบอุทกภัย

นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้มีข้อสั่งการเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติทุกชนิดด้วยการวางแผนมาตรการต่าง ๆ อย่างชัดเจน ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูภาคการเกษตรจากความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผ่าน “ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการประมง” (ศปภ.ปม.) ซึ่งจะมีการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์และผลกระทบด้านการประมงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรได้รับทราบข่าวสารอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรมประจำเขตตรวจราชการสามารถพิจารณาดำเนินการสั่งการและประสานงานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ และเรือตรวจการประมงลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อนำส่งเสบียงอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงอพยพประชาชน ผู้ป่วย เด็ก และคนชราสู่พื้นที่ปลอดภัย

ล่าสุดจากการสำรวจความเสียหายด้านการประมง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) พบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว 148 อำเภอ 35 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก พิจิตร กำแพงเพชร นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ตราด และยะลา รวมพื้นที่ความเสียหายกว่า 14,673.40 ไร่ มีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 9,667 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 118,556,556 บาท

ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ นอกจากข้อ 1. ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

3. สัตว์น้ำตามข้อ 1. และข้อ 2. ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร

ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงพร้อมดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ขอให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิดรวมทั้งเฝ้าระวังติดตามข่าวสารจากทางราชการและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด และศูนย์ฯ ประมงทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2558 0218 หรือ 0 2561 4740 และกรณีพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถแจ้งหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่ได้ทันที