นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงตัวอย่างผลสำเร็จของการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) ของจังหวัดชัยภูมิ ที่ได้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ จำหน่ายผลผลิตในประเทศและส่งออกตลาดต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าทางการค้าเข้าสู่จังหวัดได้เป็นอย่างมาก ยกระดับและต่อยอดจนเป็นที่ยอมรับของตลาด ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสินค้าที่ปลอดจากสารเคมีมากขึ้น
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลถ้ำวัวแดง เกิดขึ้นจากเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายในรูปแบบแปลงใหญ่ ในปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรประมาณ 34 ราย พื้นที่รวม 220 ไร่ ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) และมีโรงงานคัดแยกแปรรูปที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งการผลิตกล้วยหอมทอง ทางกลุ่มฯ มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ และวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ซึ่งในแต่ละปีจะจัดสรรพื้นที่เพื่อผลิตกล้วยประมาณ 6 รุ่น แต่ละรุ่นห่างกัน 2 – 3 เดือน เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ละรุ่นใช้ระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวประมาณ 8 – 10 เดือน โดยทางกลุ่มฯ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 770,000 – 880,000 กิโลกรัม/รุ่น หรือประมาณ 4,000 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรแต่ละรายมีต้นทุน การผลิตเฉลี่ย 11 บาท/กิโลกรัม ราคากล้วยหอมทองส่งออกที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 22 บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรรายได้สุทธิ (กำไร) ประมาณ 30,000 – 40,000 บาท/ไร่ และมีการนำเศษวัสดุกลับมาหมุนเวียนผลิตเป็นปุ๋ยหมักให้เหมาะสมกับพื้นที่ เลือกใช้หน่อพันธุ์ดี ซึ่งนอกจากได้ผลผลิตคุณภาพแล้วยังสามารถจำหน่ายหน่อเพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับผลผลิตของทางกลุ่มฯ จำหน่ายกล้วยหอมทองสดแบบบรรจุกล่องๆ ละ 12.5 กิโลกรัม มีตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศจำหน่ายประมาณ 1,000 – 2,000 กิโลกรัม/สัปดาห์ เช่น บริษัทคิงฟรุ้ต ที่ทำกล้วยส่ง เซเว่นอิเลเว่นทั่วประเทศ และบริษัทบานาน่า เจ จังหวัดนครราชสีมา ส่วนตลาดต่างประเทศ คือ บริษัท พีพีเอฟซี เพื่อส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 3,000 – 5,000 กิโลกรัม/สัปดาห์ ผ่านทางเรือขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปผลผลิต อาทิ กล้วยตาก ภายใต้แบรนด์ ไทยดง (Thaidong) อีกด้วย
ปัจจุบันปริมาณความต้องการซื้อกล้วยหอมทองของทางกลุ่มฯ มีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการ อาทิ บริษัท แพนแปซิฟิค ฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด บานาน่า เจ และ บริษัท คิงส์ฟู้ด เอ็นเทอไพรซ จำกัด ได้ติดต่อ เข้ามาเพื่อขอรับซื้อผลผลิตแล้ว นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้จัดทำแผนธุรกิจเพื่อขอรับสินเชื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สำหรับส่งเสริมการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป
ทั้งนี้ กล้วยหอมทอง ถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ให้ผลตอบแทนดี ขยายพันธุ์ได้ง่าย การเพาะปลูกและดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก รวมทั้งสามารถแปรรูปได้ด้วย โดยเกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นอีกสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจให้แก่เกษตรกรอีกชนิดหนึ่ง โดยนำแนวคิดตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดชัยภูมิที่มุ่งเน้นการพัฒนาจังหวัดชัยภูมิให้เป็นเมืองแห่งเกษตรอินทรีย์ในอนาคตได้อีกด้วย สำหรับเกษตรกรที่สนใจข้อมูลการผลิต กล้วยหอมทองของทางกลุ่ม หรือท่านที่ต้องการรับซื้อผลผลิต สามารถสอบถามได้ที่ นายอุดมศักดิ์ เพิงจันดา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โทร. 08 6878 1467
……………………………………………..
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา