วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “กระทรวงยุติธรรม กับการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ.” ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ตามที่กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดโครงการ Quick Win ของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดีดำเนินการในเรื่อง การบังคับคดีเชิงรุก แก้ไขปัญหาหนี้สิน พัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายในคดีแพ่งผ่านการทำงานของกรมบังคับคดี ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ ก.ย.ศ.เป็นหนึ่งในภารกิจของกรมบังคับคดี ที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 นั้น มีผลต่อการดำเนินงานของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการบังคับคดีลูกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กองทุนฯ) ที่อยู่ในบังคับคดี เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้ กองทุนฯ อาจผ่อนผันการชำระหนี้ ระยะเวลาการลดหย่อนหนี้ การชำระคืน ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และมีผลต่อลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวคณะกรรมการ กองทุนฯ ต้องออกหลักเกณฑ์กำหนด และอยู่ระหว่างดำเนินการของกองทุนฯ แต่เนื่องจากกรมบังคับคดีมีลูกหนี้กองทุนฯ ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีในปัจจุบันเป็นจำนวน 46,004 คดี ทุนทรัพย์ 6,633,172,31977 บาท แบ่งเป็น คดียึดทรัพย์ จำนวน 22,312 คดี ทุนทรัพย์ 3,156,435,215.75 บาท คดีอายัด จำนวน 23,692 คดี ทุนทรัพย์ 3,476,172,319.77 บาท ซึ่งลูกหนี้ดังกล่าวต้องได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ด้วยโดยการหักชำระหนี้ต้องนำเงินที่ชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนดก่อน ในส่วนของเบี้ยปรับที่ลดลงเหลือ 0.5 ต่อปี และดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี (ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับเดิม คิดอัตราเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี) ตลอดจนการหลุดพ้นของผู้ค้ำประกัน กรมบังคับคดีจึงได้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) และเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนี้
1. คดีที่อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาดและกองทุนฯ ได้มีหนังสือแจ้งต่อกรมบังคับคดีของดการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ และมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ และผู้มีส่วนได้เสียให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
2. คดีที่อายัดทรัพย์สิน ให้รอการทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินไว้ก่อน และกรมบังคับคดีได้แจ้งให้ กองทุน ฯ ตรวจสอบและแจ้งยอดหนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุน ฯ (ฉบับที่ 2)
3. คดีที่มีการขายทอดตลาด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันไปแล้วทั้งก่อนและหลังวันที่ 20 มีนาคม 2566 กรมบังคับคดีได้ชะลอการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายไว้ก่อน และขอให้กองทุน ฯ เร่งตรวจสอบยอดหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
4. การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างกองทุนฯ กับลูกหนี้ เมื่อได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ และงดการบังคับคดีตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
5. ในกรณีที่กองทุนฯ จำเป็นต้องบังคับคดีเนื่องจากจะพ้นระยะเวลาการบังคับคดี และลูกหนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฯ ก่อนการบังคับคดีกองทุนฯ ต้องแถลงภาระหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2)
นอกจากนี้ จากการหารือร่วมกับกองทุนฯ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 กองทุนฯ สามารถออกข้อบังคับ หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้กองทุนฯ เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สิ่งที่ลูกหนี้กองทุน ฯ ต้องดำเนินการโดยลูกหนี้ต้องยื่นหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ – website : led.go.th > banner กยศ – ติดต่อที่กรมบังคับคดี สายด่วน 1111 กด 79 หรือติดต่อสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ – ส่งหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี ทาง e- mail ของสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ฝากประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้กองทุนฯ ที่ได้รับหนังสือจากกรมบังคับคดี 46,004ราย ซึ่งในขณะนี้มีติดต่อเข้ามาเพียง 109 ราย ขอให้ท่านที่ได้รับหนังสือฯ ทุกท่านมาพบเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือติดต่อยังช่องทางดังกล่าวเพื่อรักษาสิทธิยินยอมให้งดการบังคับคดี ท่านจะได้รับการบริการอย่างทั่วถึง ตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม