วธ. ลงพื้นที่ดำเนินการแผนสำรวจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุโคอินุ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เป็นเหตุให้วัดวาอาราม รวมทั้งศาสนสถานของศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และศาสนาซิกข์ ได้รับความเสียหายจากพายุโคอินุ อีกทั้งมีพระภิกษุ สามเณร และผู้นำศาสนาในศาสนสถานต่าง ๆ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เร่งดำเนินการตามแผนการสำรวจในพื้นที่ศาสนสถานและเยียวยาพระภิกษุสามเณร ผู้นำศาสนา รวมถึงศาสนิกชนโดยรอบศาสนสถาน ตามข้อสั่งการของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนาจึงได้กำหนดมาตรการ 3 ระยะ เพื่อดำเนินการ โดยมาตรการแรกคือการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์ – ฮินดู และซิกข์ จำนวน 15 องค์การ รวมทั้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สำรวจข้อมูลศาสนสถานจากจังหวัดที่ประสบอุทกภัย จำนวน 37 จังหวัด ซึ่งจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ และอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด วัดและศาสนสถานได้รับผลกระทบทั่วประเทศรวม 42 แห่ง พระภิกษุ สามเณร และผู้นำในศาสนสถานได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจ
หลังจากการสำรวจแล้ว กรมการศาสนาจะเร่งเดินหน้ามาตรการเยียวยา ซึ่งในครั้งนี้ ศน. ได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ตลอดจนวัดในกรุงเทพมหานคร องค์การศาสนา ทั้ง 5 ศาสนา และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรม “ศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย” โดยนำเครื่องสมณบริขาร เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค และของใช้ที่จำเป็น ไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร พร้อมมอบให้ผู้นำในศาสนสถานของศาสนาต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างศาสนาให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดด้วย หลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ กรมการศาสนาจะดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานของพื้นที่ประสบภัยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการฟื้นฟูศาสนาสถานให้กลับมามีสภาพมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย สะอาด และสวยงาม เหมาะสมสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ศาสนิกชนต่อไป
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงและขยายวงกว้าง ทำให้พระภิกษุสามเณร ผู้นำในศาสนสถานได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาได้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารทุกช่องทาง รวมทั้งประสานข้อมูลกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเร่งดำเนินการเชิงรุกในการให้การความอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้นำในศาสนสถานต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เป็นการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติ ในส่วนของการบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานที่ได้รับความเสียหาย ศน. จะได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซม และพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านศาสนาในชุมชน เพื่อการเยียวยาจิตใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป