จับแล้ว Honestdocs ขายยาออนไลน์

อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. และ บก.ปอท. เข้าทลายเครือข่าย Call center แอบอ้างขายยาและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ และสื่อสังคมออนไลน์https://www.facebook.com/HonestDocs/ และ Line @HonestDocs เตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และพร้อมขยายผลหากพบว่ามีร้านขายยาเกี่ยวข้อง

วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก 4.บก.ปคบ.) นำทีมโดย พลตำรวจตรี ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พร้อมด้วย พันตำรวจเอกวินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พันตำรวจเอกชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภคและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พันตำรวจเอกอมรชัย ลีลาชจรจิตร ผู้กำกับการสนับสนุนฯ บก.ปอท. และ นายชาตรี พินโย นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค และเครือข่ายจำนวนมาก พบโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ และยังพบความเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และLine@HonestDocs

ซึ่งในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 อย.ร่วมกับ บก.ปคบ จับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในข้อหาขายยา โดยไม่ได้รับอนุญาตไปแล้ว จากนั้นได้ทำการขยายผลจนทำให้ทราบว่า บริษัท บิมินิ จำกัด เลขที่ตั้ง 1126/2 อาคารวานิช 2 ห้องเลขที่ 2802 ชั้นที่ 28 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งมีชื่อคณะกรรมการ 2 คน เป็นคนไทย 1 คน และเป็นชาวต่างชาติ 1 คน ประเภทธุรกิจ จดทะเบียนการจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (ยกเว้นซอฟต์แวร์เกมสำเร็จรูป)

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการสืบสวน ได้ระบุช่องทางการซื้อสินค้าทาง Line@HonestDocs ซึ่งผู้ดูแลแจ้งช่องทางชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารของคณะกรรมการบริษัทดังกล่าว เมื่อชำระเงินแล้ว จะส่งยาทางไปรษณีย์ให้ลูกค้าต่อไป

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 อย. และ บก.ปคบ จึงได้เข้าตรวจสอบบริษัท บิมินิ จำกัด พบเป็นเครือข่าย Call center เป็นสถานที่ให้คำปรึกษา โฆษณาขายยา อาหาร เครื่องสำอาง พร้อมเปิดช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะ กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), กลุ่มยาโรคจิตเวช กลุ่มยาความดัน กลุ่มยาโรคเบาหวาน กลุ่มยาคุมกำเนิด กลุ่มยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งหมดเป็นการขายยา ผ่านทางช่องทางเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และ Line@HonestDocs จากการตรวจสอบที่ตั้งโดเมน พบว่าอยู่ที่รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ทาง อย.จะดำเนินการประสานแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ทำการปิดเว็บไซต์ทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงเว็บไซต์นั้นได้อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ดังนี้

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

1. ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. โฆษณาขายยาโดยทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม หรือ ยาคุมกำเนิด และ โฆษณาขายยาแสดงสรรพคุณยาอันตราย หรือ ยาควบคุมพิเศษ มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

1. โฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
2. โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

โฆษณาเครื่องสำอาง ซึ่งแสดงข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

ทางด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ขอย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อของผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะกรณีผลิตภัณฑ์ยา อย. ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะการซื้อยาออนไลน์มีอันตรายอย่างยิ่ง ยาบางกลุ่ม เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หากผู้บริโภคซื้อมารับประทานเอง อาจได้กลุ่มยาไม่ตรงกับเชื้อที่ได้รับและหากรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ ซึ่งหากผู้ป่วยมีประวัติการแพ้ยาปฏิชีวนะ เช่น กลุ่มเพนิซิลลิน (เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน ไดคล็อกซาซิลลิน) ซึ่งอาการแพ้ยาอาจมีอาการตั้งแต่ลมพิษ ผื่นคัน ใจสั่น แน่นหน้าอก ไปจนถึงหอบตัวเขียว ความดันต่ำ เป็นลม หรือเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

นอกจากนี้ กลุ่มยาโรคจิตเวช กลุ่มยาโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวานการใช้ยาต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะจะได้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง หรือซื้อผ่านทางร้านยาคุณภาพที่มีเภสัชกรประจำร้านและมีใบอนุญาตเท่านั้น เพราะผู้ใช้ยาไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือไม่ ได้มาตรฐาน หรือมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น ยาบางตัวอาจเกิดการส่งผลต่อยาอีกตัว (drug interaction) ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกร เพราะหากซื้อยารับประทานเองอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนกรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วน เสริมสมรรถภาพทางเพศ ที่ผ่านมามักตรวจพบสารอันตราย หรือมีการผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ออริสแตท บิซาโคดิล และเฟนฟลูรามีน ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่อันตรายอาจถึงแก่ชีวิตดังที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หากอวดอ้างสรรพคุณเกินกว่าความเป็นเครื่องสำอาง เช่น ยับยั้งการก่อตัวของเชื้อโรค ปกป้องการติดเชื้อโดยจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เร่งผลัดเซลล์ผิว ลดการระคายเคือง เป็นต้น ถือเป็นข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับภายนอกร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดและความสวยงามเท่านั้น โดยไม่ได้มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกาย ฉะนั้นการซื้อผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาบริโภคผ่านสื่อออนไลน์ จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเพียงอย่างเดียว

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. เตรียมขยายผลหากพบร้านขายยาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ย้ำเตือนว่าการขายยา อย.ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายผ่านทางสื่อออนไลน์ แนะผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ ยา และเสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงทางสื่อออนไลน์ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

**************************************