นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสวดโอ้เอ้วิหารราย ซึ่งเปนการสวดเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ในช่วงเข้าพรรษา กลางพรรษา และออกพรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีทางศาสนา ถือเป็นธรรมเนียมทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมาอย่างยาวนานควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ช่วงออกพรรษา ประจำปี พ.ศ. 2566 กรมการศาสนา มีกำหนดสวดในวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2566 และมีนักเรียนจากสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจากการประกวดสวดโอ้เอ้วิหารรายเข้าร่วมสวดวันละ 12 โรงเรียน แบ่งการสวดออกเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้าสวดเวลา 09.00 น. – 11.00 น. และรอบบ่ายสวดเวลา 13.00 น. – 16.00 น. สวดประจำศาลาราย 12 ศาลารอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้ การสวดโอ้เอ้วิหารราย เป็นบทสวดที่ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นการอ่านกาพย์พระไชยสุริยาที่นำมาจากหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นตำราเรียนขั้นปฐมภูมิของเด็กสมัยโบราณ เพื่อช่วยในการอ่านออกเสียงและผันวรรณยุกต์ โดยบทสวดดังกล่าว ยังได้มีการสอดแทรกคติธรรมต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการดำรงชีวิตได้ และเพื่ออนุรักษ์สืบสานไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสวดโอ้เอ้วิหารราย และได้มีส่วนร่วมของการสืบสานธรรมเนียมการสวดโอ้เอ้วิหารรายที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย ให้ดำรงคงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ตลอดจนช่วยให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติตลอดไป
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่ออีกว่า การสวดโอ้เอ้วิหารราย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2558 ซึ่งการสวดโอ้เอ้วิหารรายเดิมที จะมีท่วงทำนองอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่อาจจะมีเค้ามาจากทำนองการเทศน์มหาชาติ เนื่องจากการสวดโอ้เอ้วิหารรายสืบเนื่องมาจากการฝึกหัดเทศน์มหาชาติแล้วค่อยกลายทำนองมาเป็นทำนองเฉพาะโอ้เอ้วิหารรายในปัจจุบัน มี 3 ทำนอง ดังนี้
1. ทำนองกาพย์ยานี 11 เป็นทำนองที่เร็ว ว่องไว ฟังดูแล้วสนุกสนาน มีการออกเสียงเอื้อน แทรกระหว่างคำ ซึ่งทำนองจะจบลงในหนึ่งบาทเท่านั้น เมื่อขึ้นบทใหม่ก็จะใช้ทำนองเดิมซ้ำอีก
2. ทำนองกาพย์ฉบัง 16 เป็นท่วงทำนองที่เนิบช้าลงมาจากทำนองกาพย์ยานี จะเป็นทำนองกลางที่ไม่ช้าและเร็วเกินไป มีเอื้อนยาวและจังหวะเร็วเพื่อความไพเราะสนุกสนาน ตัวอย่าง บทสวดและทำนองสวด
3. ทำนองกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นท่วงทำนองที่เนิบช้าที่สุด ซึ่งสร้างความไพเราะ ฟังแล้วรู้สึกสบายและให้อารมณ์เศร้า มีการเอื้อนสอดแทรกหลายที่ การอ่านเว้นจังหวะ 2/2 คำ อ่านได้ทั้งเสียงธรรมดาและเป็นทำนองเสนาะ
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวทิ้งท้ายว่า การสวดโอ้เอ้วิหารรายในครั้งอดีตได้หายไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งสำนักพระราชวังได้แจ้งให้กรมการศาสนาดำเนินการหาผู้ฝึกสอนการสวดคำฉันท์ตามหนังสือมูลบทบรรพกิจ และให้ประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดหานักเรียนมาเข้ารับการฝึกหัดสวด และนำนักเรียนเข้าไปสวดโอ้เอ้วิหารราย พร้อมกับนักสวดพระมหาชาติคำหลวงของกรมการศาสนา นับตั้งแต่เทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช 2553 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบันการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น กองศาสนพิธี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งมีการเปิดรับสมัครจากสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับการอบรมและจัดการประกวดเพื่อคัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบ และนำสถานศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการสวดโอ้เอ้วิหารราย เข้าสวดในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งขณะนี้ มีสถานศึกษา ส่งนักเรียน เยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 129 แห่ง ซึ่งผู้สวดโอ้เอ้วิหารราย จะต้องมีวินัยในการฝึกฝน พัฒนาทักษะทางด้านการอ่าน และการใช้เสียงที่ถูกต้องตามทำนองสวดเพื่อการขับร้องที่ไพเราะตามทำนองที่กรมศิลปากรกำหนด ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนมีความซาบซึ้งในบทสวดที่แฝงด้วยศีลธรรม คติธรรม ก่อเกิดความสงบร่มเย็นภายในจิตใจ และเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมด้านการสวดของไทยตั้งแต่สมัยโบราณเป็นมรดกของภูมิปัญญาไทยในด้านวรรณกรรม อักขรวิธี กาพย์ กลอน และภาษาไทยของชาติ สืบไป