วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครบรอบปีที่ 6 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ร่วมแสดงความยินดี ณ สทนช. อาคารจุฑามาศ กรุงเทพฯ ว่า สทนช. ได้จัดตั้งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เพื่อทำหน้าที่ในการบูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่มีอยู่ในหลายหน่วยงานและต่างกระทรวง และในวันนี้ สทนช. กำลังก้าวสู่ปีที่ 7
ที่ผ่านมา สทนช. ได้ดำเนินงานตามบทบาทภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างสมดุลในทุกมิติและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อาทิ การถ่ายทอดค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) สู่แผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน การทบทวนปรับปรุงค่าเป้าหมายโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ ปี 2566-2570 การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบ Thai Water Plan โครงการนำร่องเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและเกณฑ์การติดตามและประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนจากการบริหารทรัพยากรน้ำ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สทนช. ได้ยกระดับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดทรัพยากรน้ำ โดยเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ผ่านองค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ จนถึงระดับนโยบาย นั่นคือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมทั้งได้พัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการ สั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูแล้ง ปี 2565/66 ภายใต้สภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และมาตรการรับมือฤดูฝนเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญด้วย
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเพื่อบูรณาการหน่วยงานบริหารจัดการน้ำได้ทันต่อสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนและป้องเหตุกันก่อนเกิดภัย ลดผลกระทบให้น้อยที่สุด ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบ One Map ผ่านเว็บไซต์และ application National ThaiWater นอกจากนี้ สทนช.ได้ขับเคลื่อนการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จำนวน 35 ฉบับ ดำเนินการแล้วเสร็จ 27 ฉบับ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวน 8 ฉบับ
ในส่วนงานด้านต่างประเทศ ได้มีการติดตามและรายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานตามตัวชี้วัด SDG 6.5.2 ความร่วมมือในการบริหารจัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ (UN) การดำเนินโครงการภายใต้ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศฮังการี เป็นต้น รวมถึงการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศต่างๆ
“ก้าวสู่ปีที่ 7 สทนช. ยังคงยืนหยัดเดินหน้าภารกิจเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านน้ำเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะสถานการณ์เอลนีโญที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความท้าทายและเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งภาวะโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เน้นการทำงานเชิงรุกและเปิดรับความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมทั้งต้องมีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ ลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการจัดทำโครงการและงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นระบบและมีเอกภาพ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย