วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม // พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจติดตามความพร้อมการปฏิบัติงานของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ตามที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้มีข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดำเนินการเตรียมการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในทุกมิติ พร้อมยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน
โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้เข้าตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ณ ห้อง 301 ชั้น 3 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ การคาดการณ์พยากรณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กล่วงหน้า การแสดงค่าผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการเป็นศูนย์สื่อสารเพื่อยกระดับการแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน จากนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และได้กำชับสั่งการให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ให้มีความคล่องตัว สื่อสารในเชิงรุก ต่อเนื่อง เข้าใจง่าย สามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยตรงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ รวมถึงประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดเอกภาพในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้รับข้อสั่งการจากท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นในทันที หลังเริ่มพบปรากฎการณ์ฝุ่นแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงฯ ได้เตรียมความพร้อมกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 นี้ ที่มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ให้มีความเข้มขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ท่านรองนายกรัฐมนตรีฯ จึงได้กำชับให้ยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน และยกระดับกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด
โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (26 ตุลาคม 2566) นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดหมอกควันและฝุ่นละอองทั้งระบบ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ในการยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน นับจากวันนี้ไป ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 การรายงานสถานการณ์ประจำวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook live ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมแนวทางการปฏิบัติตัว
ระดับที่ 2 การรายงานสถานการณ์ประจำสัปดาห์ พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการปฏิบัติตัวในช่วงอาทิตย์นั้น โดยจะเป็นการรายงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข และ ผู้ว่าราชการจังหวัด
ระดับที่ 3 การรายงานกรณีพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ในกรณีสถานการณ์ PM2.5 เข้าขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนเข้ามามีผลกระทบต่อประเทศไทย จะให้ ศกพ. รายงานสถานการณ์ต่อประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติตน
ระดับที่ 4 กรณีมีประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะจัดให้มีการสื่อสาร เสวนา โดย ศกพ. เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ และความเข้าใจต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป