หลายพื้นที่ในประเทศ ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักน้อยตามไปด้วย นั้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน กรมชลประทานมีความห่วงใยประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด จึงได้สั่งการให้ทุกสำนักงานชลประทานทั่วประเทศตรวจสอบพื้นที่รับผิดชอบ สำรวจความเดือนร้อนที่เกษตรกรและประชาชน เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันที อาทิ พื้นที่จังหวัดลพบุรี สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้เข้าดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณปลายคลองส่งน้ำ 3 ขวา-16 ขวา หมู่ 1 ตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี กว่า 3,000 ไร่ ที่ขาดแคลนน้ำในการทำนา
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ได้ทำการปรับพื้นที่เพื่อรองรับการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 นิ้ว สำหรับสูบน้ำจากบึงกระจับ ผ่านคลองระบาย 3 ขวา – 1 ขวา ไปยังจุดสูบน้ำลงคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลอง มก.) เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้ายคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์
ด้านจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 นำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เข้าไปสูบน้ำให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ บริเวณหมู่ 1 บ้านไร่ หมู่ 3, 4 และ 6 บ้านท่าอ่าง ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย
ที่จังหวัดเลย โครงการชลประทานเลย ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 6 เครื่อง เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภค และการปลูกพืชฤดูฝนหรือนาปี พื้นที่ 650 ไร่ และทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มาเพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านจังหวัดอุดรธานี โครงการชลประทานอุดรธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 6 นิ้ว อีก 1 เครื่อง พร้อมทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานกว่า 1,500 ไร่ ในพื้นที่ที่อำเภอเมืองอุดรธานี
ที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าพื้นที่บ้านหัวทุ่ง และบ้านหัวคู ตำบลหัวทุ่ง อำเภอพล กำลังประสบปัญหาบ่อน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาในหมู่บ้านแห้งขอด เหลือน้ำใช้ได้เพียง 1 สัปดาห์ เท่านั้น ทางโครงการชลประทานขอนแก่นได้เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมได้รับการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากองค์การบริหารส่วนตำบล พร้อมดำเนินการสูบน้ำจากอ่างทุ่งพึงพืดเข้าสู่บ่อพักน้ำดิบแล้ว และจะดำเนินการสูบน้ำอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอ
ทั้งนี้ หากมีปริมาณฝนตกในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันทรัพยากรน้ำ(สสน.) จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และใช้น้ำตามรอบเวรตนเองอย่างเคร่งครัดด้วย
*******************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์