รมว.ศธ. ‘เพิ่มพูน’ ห่วงไข้หวัดใหญ่ระบาดหลังเปิดเทอม ใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์

24 ตุลาคม 2566/ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2/2566 ของโรงเรียนหลายแห่ง และยังอยู่ในฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อผ่านการไอ จาม หายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส โดยโรงเรียนหรือสถานศึกษานับเป็นแหล่งที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยสุขภาพของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่ต้องกลับมาอยู่ร่วมกัน จึงกำชับให้มีการจัดระบบคัดกรองเด็กป่วย หากพบมีอาการเข้าข่ายโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ เจ็บคอ ให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ แยกให้นักเรียนที่ป่วยพักในสถานที่ ที่จัดเตรียมไว้ ติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพบแพทย์ และพักรักษาตัวที่บ้าน

ขณะเดียวกันโรงเรียนควรจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนและผู้ปกครองป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น เน้นย้ำการรับประทานอาหารในสถานศึกษาอย่างปลอดภัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้นักเรียนและประชาชนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ด้วยมาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่

1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ

2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร

3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย

4. หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดทำกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ และเน้นย้ำว่าหากมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วใน 2 วัน

“กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นที่จะดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชน โดยเฉพาะสุขภาพกายของเด็ก ๆ เราจึงให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้นักเรียนออกกำลังกายตามความชอบ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อนักเรียนมีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตดี สภาพแวดล้อมของโรงเรียนสะอาดและปลอดภัย พวกเขาจะรู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะมาโรงเรียน มีความสุขในการเรียน รวมถึงครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนก็สามารถมีความสุขร่วมกันได้ สอดคล้องกับแนวทางนโยบาย เรียนดี มีความสุข” โฆษก ศธ.กล่าว