กระทรวงศึกษาธิการ 19 ตุลาคม 2566 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ในฐานะที่ UNESCO ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม
รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่ UNESCO ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม และร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณของพระองค์ ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบวันประสูติ 100 พรรษา รัฐบาลไทยจึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. จัดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 International Conference on Mathematics and Science Education in the Post COVID-19 Era: Global Issues Awareness ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566
“ถือเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพงานนานาชาติ ที่ระดมสมองของบุคลากรชั้นแนวหน้า ทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาชั้นนำของโลก โดยมีผู้ร่วมงานในประเทศและจากนานาประเทศจำนวน 500 คน เพื่อร่วมกันหาแนวทางเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มคุณภาพการศึกษาให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรค สู่การพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม พระราชทานปาฐกถาพิเศษ ทรงร่วมรับฟังการบรรยายระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2566 และทอดพระเนตรนิทรรศการทางวิชาการ” รมว.ศธ. กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สอวน. กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบของโควิด19 ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อการเรียนการสอนทั่วโลก แม้จะใช้การเรียนการสอนออนไลน์ทดแทนการสอนแบบเผชิญหน้า แต่ก็ยังมีช่องว่างในการสร้างคุณภาพการเรียนรู้ เนื่องจากวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นฐานความรู้ในการสร้างคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนอนาคต งานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่ดึงดูดนักคิด นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ร่วมพิจารณาปัญหาการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาที่นานาประเทศต้องเผชิญ หาแนวทางต่อยอดพัฒนาหลังการระบาดของโรค ซึ่งภายในงานมีการบรรยายงานวิจัยแนวหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล
Ms.Soohyun Kim ผอ.สำนักงานยูเนสโก ประจำกรุงเทพฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้เป็นการเชิดชูพระกรุณาธิคุณของพระองค์ในด้านการศึกษา โดยเฉพาะสาขา STEM ทั้งยังเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยใช้ความรู้ด้าน STEM เพื่อเอาชนะความท้าทายหลังสถานการณ์โควิด 19 ร่วมจัดสรรการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เยาวชนของเรา เพื่อความเจริญรุ่งเรือง ความอยู่ดีมีสุข สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับกำหนดการประชุมฯ ในวันที่ 30-31 ตุลาคม 2566 เป็นการสัมมนาแบบพบหน้า (On-site) ณ ห้อง 208 – 209 ชั้น 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ประกอบด้วย
– พิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยผู้ร่วมปาฐกถา Ms.Soohyun Kim ผอ.สํานักงาน UNESCO ประจํากรุงเทพฯ
– Plenary lectures โดย Professor Ada Yonath (สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มาน อิสราเอล) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2009, Professor Drew Weissman (มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา) นักวิทยาศาสตร์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2023 และ Professor Sir Tom Blundell (มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร)
– Invited lectures โดย นักวิทยาศาสตร์นักคณิตศาสตร์และนักการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ Professor Manjula Sharma (มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย), Professor Masami Isoda (มหาวิทยาลัยซุคุบะ ญี่ปุ่น), Professor Young-Hoon Kim (มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี), รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย), ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ (บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จํากัด ประเทศไทย) และนางสาวกล่อมจิต ดอนภิรมย์ (โรงเรียนกมลาไสย ประเทศไทย)
ในส่วนของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นการประชุมปฏิบัติการแบบพบหน้า (On-site) ณ ห้อง 208 – 209 ชั้น 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์การประชุม http://imsed.ipst.ac.th/ หรือเฟซบุค https://www.facebook.com/imsed2023