เสมา 1 มอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ปี 2566 พร้อมร่วมแถลงข่าว “ทิศทางการพัฒนาครู”

18 ตุลาคม 2566 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ปี 2566 ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการระดับจังหวัด รวมทั้งส่วนกลางทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

พร้อมร่วมแถลงข่าว “ทิศทางการพัฒนาครู และเปิดตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทยและครูรางวัลคุณากร” โดยมี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ สกศ. รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายยศพล เวณุโกเศศ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนครูผู้ได้รับรางวัลฯ เข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับครูที่ได้รับรางวัลฯ ในครั้งนี้​ โดยเฉพาะครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทยในปีนี้ ที่ได้ใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา รวมทั้งครูอุดร สายสิงห์ และครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูรางวัลคุณากร ตลอดจนครูรางวัลครูยิ่งคุณ ครูรางวัลครูขวัญศิษย์ ที่ได้เสียสละแรงกายแรงใจ​ สติปัญญา ทุ่มเทพัฒนาการศึกษา​ไทย ดึงศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ

สำหรับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา เแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและพลังของคำว่า “ครู” ที่ส่งผลถึงเด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่​ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ยากลำบากเพียงใด ครูจึงเป็นผู้สมควรได้รับรางวัลอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ของคนไทยทั้งปวงที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแบบอย่างของครูคุณภาพ เพื่อสร้างคนคุณภาพ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษามาโดยตลอด ทรงเปี่ยมด้วยคุณลักษณะของความเป็นครูที่สอดคล้องกับมาตรฐานของคณะกรรมการส่งเสริมวิชาชีพครู ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ในด้านความรอบรู้ การสอนดี มีคุณธรรม จรรยาบรรณ และมุ่งมั่นพัฒนา

แม้ว่าในปัจจุบันการแสวงหาความรู้สามารถหาได้จากแหล่งต่าง ๆ มากมาย แต่ครูก็ยังมีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถ​ เป็นคนดีของสังคม ครูจึงต้องมีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งด้านองค์ความรู้ และเทคโนโลยี อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนเพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนไทยมีวิธีคิดที่มีวิจารณญาณ เลือกรับและเรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต

“ตลอดจนขอเน้นย้ำไปยังครูทุกคนถึงความสำคัญของการเรียนการสอน​ ต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย​ และสามารถมีรายได้ระหว่างเรียน เน้นไปที่การเรียนดี มีความสุข ซึ่งการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึงผู้ปกครอง เพราะเมื่อมีความสุข ก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น และเมื่อการเรียนดีขึ้น ก็จะส่งผลกลับมาทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น” รมว.ศ​ธ.กล่าว​

รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการศึกษาของครูและผู้เรียนเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการสอนของครูให้ดีขึ้น จึง​มีความคาดหวังจากครูรางวัลฯ ในครั้งนี้ ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นเลิศในแต่ละด้านของตนเอง พร้อมสนับสนุนการพัฒนาและขยายผลสู่เพื่อนครูทั่วประเทศ ให้สามารถยกระดับการทำงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาของประเทศไปพร้อมกัน

ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เชื่อมั่นในพลังของครู เพราะครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ กระบวนการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทยจึงมาจากการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกันสรรหาครูที่มีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศไทยจึงได้จัดทำรางวัลเพื่อยกย่องครูเพิ่มเติมได้แก่ รางวัลคุณากร 2 รางวัล รางวัลครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และรางวัลครูขวัญศิษย์ 146 รางวัล เพื่อเชิดชูครูของแต่ละจังหวัด

ในการขยายผลการทำงานของเครือข่ายครู​นั้น สิ่งสำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายครูทั้ง 11 ประเทศ พัฒนาทักษะวิชาชีพที่ส่งผลต่อนักเรียนและเพื่อนร่วมวิชาชีพครู การสนับสนุนจากภาคธุรกิจเพื่อเปิดพื้นที่ให้ครูได้เรียนรู้โลกธุรกิจและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งโครงการส่งเสริมและพัฒนาการสะกด พูด อ่าน เขียนภาษาไทย (MOVE) เพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งให้ความสำคัญแก่นักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ และร่วมกับ กสศ. ในการต่อยอดความเชี่ยวชาญของครูรางวัลฯ เพื่อแบ่งปันทักษะการทำงานให้ครูและเด็กเยาวชนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยสร้างเครือข่ายและกลไกการทำงานอย่างเป็นระบบ

ภายในงานมีการเปิดตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย​ และครูรางวัลคุณากร​ เป็น​โอกาสที่ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข เจ้าของรางวัล​ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศไทยครูอุดร สายสิงห์ และครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูรางวัลคุณากร ได้มาแบ่งปัน​ประสบการณ์​การทำงานเพื่อเป็นแนว​ทางใน​การทำงานให้กับเพื่อนครูด้วย

นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) สังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการให้ความรู้จะติดตัวไปตลอดจนหมดลมหายใจ จึงมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรเพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นตนเอง และสมัครเป็นครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” จนได้บรรจุรับราชการ​ โดยจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นการรู้หนังสือไทย การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ตามความสนใจของผู้เรียน เน้นการนำสถานการณ์ สภาพบริบทชุมชน และปัญหาชุมชนมาออกแบบบูรณาการเข้ากับหลักสูตร

“ผมใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน ทำความเข้าใจร่วมกัน เกิดกฎของเวทีประชาคมหมู่บ้านจากการแก้ไขปัญหากันเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และความเข้มแข็งของชุมชนในที่สุด นำไปสู่การแก้ปัญหาปลูกฝิ่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตัดไม้ทำลายป่า เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการปลูกกาแฟครบวงจร เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟมอโก้คี และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ดังนั้นบทบาทของศูนย์การเรียนรู้จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ทุกกลุ่มวัย ทำให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจซึ่งจะเป็นการสร้างคนที่ยั่งยืน”

นายสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูรางวัลคุณากร ครูชำนาญการ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด ครูคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมปลาย กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้จากคณิตศาสตร์ในห้องเรียนสู่วิชาผู้ประกอบการยุคใหม่ในชีวิตจริงว่า การสอนวิชาคณิตศาสตร์ด้วยกระบวนการจำลองสถานการณ์จริง เช่น​ การทำ​“Cafe@เขาน้อย” ฝึกประสบการณ์ผ่านการทำธุรกิจร้านกาแฟ กิจกรรมบริษัทจำลอง กิจกรรมการเป็นผู้ประกอบการ กิจกรรมตลาดนัดพัฒนาชีวิต โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกันวางแผน ออกแบบแก้ไขสถานการณ์ บริหารและจัดการ ซึ่งครูจะรับฟังความเห็นของนักเรียนและให้คำปรึกษา​อย่างเสมอภาค​ นอกจากนี้ครูยังทำหน้าที่แนะแนวทางให้ลูกศิษย์เพื่อค้นหาตัวตนตามศักยภาพบนความแตกต่างของแต่ละคน เพื่อให้นักเรียนออกแบบการพัฒนาตนเองและวางแผนการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอุดร สายสิงห์ ครูรางวัลคุณากร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านโกตาบารู จ.ยะลา​ ครูกลุ่มสาระวิชา สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กล่าวว่า​ ตนให้น้ำหนักที่การปลูกฝังพฤติกรรมด้านคุณธรรม ทักษะชีวิตที่หลากหลาย สร้างพลเมืองที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยใช้ห้องเรียนที่กว้างใหญ่จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมประสบการณ์ เสริมสร้างอาชีพ และคิดค้นจุดเน้นนักเรียนในระดับ ม.ต้น​ คือ การเรียน การงาน การเงิน และการสร้างวินัย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดเส้นทางการศึกษาที่สูงขึ้น.