3 หน่วยงาน รวมพลังสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง ผลักดันงานคุ้มครองผู้บริโภคกระจายลงสู่ท้องถิ่น

3 หน่วยงานผนึกกำลังเข้ม ร่วมสร้างเครือข่ายกระจายอำนาจงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพลงสู่ท้องถิ่น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงาน และการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำโครงการส่งเสริมภารกิจการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2562 โดยผนึกกำลังร่วมกับ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนำร่อง จำนวน 70 แห่ง ซึ่งได้มีการจัดอบรมตามโครงการดังกล่าวไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน พร้อมทั้งจัดทำคู่มือการตรวจสอบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหารและเครื่องสำอางให้กับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขององค์กรให้เป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 อีกด้วย

นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม 2562 พบว่ามีเทศบาลหลายแห่งได้มีการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในหลายพื้นที่ เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองนราธิวาส และเทศบาลนครนนทบุรี ได้มีการจัดอบรมเครือข่าย อสม. ในการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ เทศบาลเมืองไร่ขิง เทศบาลเมืองสามพราน และเทศบาลเมืองราชบุรี ได้มีการออกตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านชำร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นอกจากนี้ อย. ยังได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการพัฒนาต้นแบบการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 13 แห่งนำร่อง เพื่อออกตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน

เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การสร้างภาคีเครือข่ายกระจายอำนาจงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพลงสู่ท้องถิ่น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยได้นำร่องไปแล้วหลายจังหวัด และ อย. ยังคงส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการดำเนินงาน และการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ