กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลำน้ำมูลมีแนวโน้มลดลง คาดต้น พ.ย. เข้าสู่สภาวะปกติ

สถานการณ์ลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำในลำน้ำตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย มีการยกบานประตูระบายพ้นน้ำทั้ง 6 เขื่อน ในส่วนของเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำ 2,066 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 104% ของความจุฯอ่าง กรมชลประทานได้พิจารณาปรับลด การระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ในส่วนปริมาณน้ำในลำน้ำยัง มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ E.92 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มลดลง สำหรับลุ่มน้ำชีตอนล่างบริเวณ จ.ยโสธร ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำชีที่ อ.เมืองยโสธร และ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร แนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้น

สำหรับลุ่มน้ำมูล ปัจจุบันเขื่อนระบายน้ำมูล 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนพิมาย เขื่อนชุมพวง เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา ช่วยหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู่ลำน้ำมูลตอนล่าง โดยเปิดบานระบายน้ำตามความเหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชี ซึ่งจะลดผลกระทบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ระบายท้ายเขื่อนหัวนา 1,188 ลบ.ม./วินาที สถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,808 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง ในส่วนของเขื่อนลำเซบาย ลำเซบก และเขื่อนปากมูล ได้ยกบานประตูระบายน้ำพ้นน้ำ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีระดับน้ำจะกลับสู่ตลิ่งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงพร้อมกับเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ