วันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ทำการนิคมสร้างตนเองกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงาน “เหลียวหลังแลหน้า จากรากหญ้าสู่รากแก้ว 37 ปี นิคมสร้างตนเองกระเสียว…สู่ครอบครัวผาสุก” เพื่อขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสังคมในนิคมสร้างตนเอง BCG และ “กระเสียวโมเดล” พร้อมทั้งมอบนโยบายแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพให้กับสมาชิกนิคมฯ อีกทั้งมอบเงินทุนประกอบอาชีพและถุงยังชีพสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้กับครัวเรือนเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคมและผู้แทนสมาชิกบ้านน้อยในนิคมฯ และมอบแพะเพื่อการจัดตั้ง “ธนาคารแพะ” ให้กับสมาชิกนิคมฯ นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. และผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจครอบครัวผู้ประสบปัญหาทางสังคมในพื้นที่ พร้อมมอบงบประมาณการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุและถุงยังชีพสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น
ในโอกาสนี้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายเสมอกัน เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี เขต 4 หน่วยงานทีม One Home พม.จังหวัดสุพรรณบุรี และภาคีเครือข่าย ร่วมลงพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวว่า นิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่กว่า 18,000 ไร่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2528 เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการชลประทานกระเสียว จำนวน 311 ครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกนิคมฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,065 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง มีเอกลักษณ์การแต่งกายเป็นลายผ้าซิ่นตีนจก โดยสมาชิกนิคมฯ ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เราได้มีโอกาสมาเห็นการพัฒนาความก้าวหน้าและแนวทางการดำรงชีพของพี่น้องชาวนิคมฯ ซึ่งน่าชื่นใจว่ามีหลายอาชีพที่สามารถพัฒนาจนมีรายได้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีพี่น้องประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี ภูมิปัญญาการทำเกษตรสมัยใหม่ เนื่องจากพื้นที่อำเภอด่านช้าง จากรายงานพบว่า เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีความกันดาร และขาดแคลนน้ำ ซึ่งการจะใช้แหล่งน้ำต่างๆ นั้น ค่อนข้างจะหายาก ดังนั้นการทำการเกษตรในนิคมแห่งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้องค์ความรู้ และแนวทางของกระทรวง พม. โดยเราจะประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในการที่จะนำเอาองค์ความรู้มาให้กับพี่น้องประชาชนในนิคมฯ เพื่อจะพัฒนาอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมไปถึงการศึกษาและการพัฒนาศูนย์บริบาลผู้สูงอายุในพื้นที่ของนิคมฯ
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจอีกมากที่เราจะต้องทำงานร่วมกันกับพี่น้องประชาชนในนิคมฯ แห่งนี้ และอีก 42 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งตนมั่นใจว่าภายใต้การทำงานของกระทรวง พม. เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในนิคมฯ ทั่วประเทศ โดยดึงเอาศักยภาพและเอกลักษณ์ของแต่ละฝ่ายขึ้นมาทำให้แนวทางการทำงานและการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพัฒนาสังคมในนิคมฯ โดยยึดหลักตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ BCG โมเดล เพื่อให้สมาชิกนิคมฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้มั่นคง โดยการนำทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งเป็นทุนทางสังคมมาใช้ประโยชน์ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันผลักดันให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็น “เมือใงสมุนไพร” ซึ่งตนได้เห็นเป็นรูปธรรมจากการเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชสมุนไพรตำบลนิคมกระเสียว มีสมาชิกกลุ่ม 27 ราย โดยเน้นการปลูกตะไคร้เพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ด้วยเทคโนโลยี “ระบบสายน้ำหยด” และได้ขอ “รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)” จากสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร เมื่อปี 2564 ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 จำนวน 390,000 บาท ปี 2564 จำนวน 1,200,000 บาท และปี 2565 จำนวน 1,500,000 บาท