วันที่ 13 ตุลาคม 2566 พระธรรมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันนวมินทรมหาราช โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้นำองค์การศาสนา ศาสนิกชน องค์กรเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันนวมินทรมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของอาณาประชาราษฎร์ และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี แห่งการครองราชย์ เมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ในวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งหมายถึง วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงได้จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลฯ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม การแสดงความอาลัยด้วยความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยร่วมกับผู้นำองค์การทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศ ร่วมกันบำเพ็ญกุศลสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลฯ โดยใช้ดอกดาวเรืองหรือดอกไม้สีเหลืองจัดทำพานพุ่มและตกแต่งสถานที่ประกอบพิธี ซึ่งดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีสีเหลืองตรงกับ “วันจันทร์” ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ และแสดงถึงพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ ที่เรียบง่ายและพอเพียง โดยในวันนี้ได้ร่วมกับวัดบวรนิเวศวิหาร จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายพระราชกุศลฯ ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2566 โดยสวดมนต์ตามบทสวดพระพุทธมนต์เพื่อใช้ประกอบพิธี จำนวน 8 บท ประกอบด้วย 1) ปัพพะโตปะมะคาถา 2) อะริยะธะนะคาถา 3) ธัมมะนิยามะสุตตัง 4) ติลักขณาทิคาถา 5) ปฏิจจสมุปบาท 6) พุทธอุทานคาถา 7) ภัทเทกรัตตสูตร และ สัพพมงคลคาถา ซึ่งเป็นพระสูตรและคาถาอันหมายถึง “การไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสรรพสิ่ง ให้ยึดมั่นในความดีงามและมีพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีค่าประเสริฐเลิศล้ำกว่าทรัพย์ทั้งปวง และตระหนักรู้อยู่เสมอว่าทุกอย่างมีการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จึงไม่ควรยึดถือไว้ให้เกิดความทุกข์ ให้มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม มุ่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตที่ล่วงมาแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง” นอกจากนี้ ได้จัดทำโปสการ์ดพระราชกรณียกิจด้านศาสนา 9 แบบ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านศาสนา 5 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ ในจังหวัดต่าง ๆ ยังได้มีการจัดงานเช่นเดียวกับส่วนกลาง ประกอบด้วย พิธีสวดพระพุทธมนต์ กิจกรรมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จัดนิทรรศการหรือจัดทำวีดิทัศน์น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งยังร่วมกับองค์กรทางศาสนา 5 ศาสนา จัดพิธีทางศาสนาตามหลักศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ จีนนิกาย วัดอนัมนิกาย จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ ศาสนาอิสลาม จัดพิธีดุอาอ์ ศาสนาคริสต์ จัดพิธีอธิษฐานภาวนา ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จัดพิธีสวดมนต์ และศาสนาซิกข์ จัดพิธีสวดกีรตันและอัรดาส