กรมสุขภาพจิต เปิดเวทีนานาชาติแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดใหม่ๆ ประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ

กรมสุขภาพจิต เปิดเวทีวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “โลกเปลี่ยนไป มิติใหม่สุขภาพจิต” เป็นเวทีเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ แลกเปลี่ยนผลงาน ประสบการณ์ความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งแนวคิด วิชาการใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน และต่อยอดการทำงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพ ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง

วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562 เรื่อง โลกเปลี่ยนไป : มิติใหม่สุขภาพจิต (Mental Health in a Changing World : The New Challenges) และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “โลกเปลี่ยนไป : มิติใหม่สุขภาพจิต” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ในโลกยุคปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่สามารถแยกออกจากชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญก้าวหน้าทางด้านอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงคนที่อยู่คนละทวีป ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้แค่เพียงเสี้ยววินาที การเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทำให้ผู้คนสามารถแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของตัวเองให้กับเพื่อนบนโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาเป็นสินค้าที่จำเป็นของผู้คนทั่วโลก

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวต่อว่า มีข้อมูลสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย จากจำนวนประชากร 69.24 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 57 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82 มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวน 51 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 74 และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือ จำนวน 49 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 ตลอดจนใช้เวลาในการเข้าอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อวัน คิดเป็น 9 ชั่วโมง 11 นาที และใช้เวลาในการเข้าโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยต่อวัน คิดเป็น 3 ชั่วโมง 11 นาที ถึงแม้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียจะมีประโยชน์ในการทำให้ผู้คนสามารถติดต่อกันง่ายขึ้น รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่การใช้สื่อโซเชียลมีเดียติดต่อกันหลายชั่วโมงในแต่ละวัน อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิตในหลายด้าน เช่น การนอนหลับไม่ดี เกิดความวิตกกังวล และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมมีสิ่งท้าทาย และสิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้รออยู่เสมอ คนบางกลุ่มสามารถปรับตัวเรียนรู้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ในขณะเดียวกัน มีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ดังนั้น หากคนในสังคมมีความรอบรู้เท่าทัน สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยมีกำลังใจที่เข้มแข็ง อดทน และยืดหยุ่น รวมทั้งสามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เติบโต มีสติปัญญาที่จะจัดการกับชีวิตไม่ให้เป็นทุกข์ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

ทางด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก องค์การอนามัยโลก ได้แสดงความห่วงใยต่อสุขภาพจิตของผู้คนในยุคนี้อย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่มากอยู่แล้ว เมื่อต้องพบกับความกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกร่วมด้วย จึงต้องใช้ทักษะ ความสามารถในการปรับตัวปรับใจเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เพราะแม้จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตมากขึ้น มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิตอลยุคใหม่ที่บางครั้งก็ยากต่อการทำความเข้าใจ

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 พบว่า มีตัวแปรสำคัญ 5 ปัจจัย ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น คือ 1. การเป็นสังคมผู้สูงอายุ 2. เด็กเกิดน้อย 3. วัยทำงานลดลง 4. การใช้โลกโซเชียลมากขึ้น เป็นสังคมก้มหน้า เด็กและวัยรุ่นติดเกม ผู้ใหญ่เครียด และ 5. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไทยมีความอดทนต่ำ และมีพฤติกรรมการเสพติดเพิ่มขึ้น เช่น ติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ และ ใช้กลไกต่างๆ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิต ตลอดจนขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ โดยมุ่งเป้าให้คนไทยมีปัญญา อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า

กรมสุขภาพจิต ตระหนักถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างผู้ดำเนินงานสุขภาพจิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดจัดโครงการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “โลกเปลี่ยนไป มิติใหม่สุขภาพจิต” ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าถึงองค์ความรู้ที่ทันสมัยเหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เกิดความร่วมมือ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจต่อการทำงานด้านสุขภาพจิต ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกรมสุขภาพจิต ตลอดจนเครือข่ายระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย บุคลากรทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเครือข่ายระดับนานาชาติ จำนวน 1,200 คน โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบการประชุมประกอบด้วยการบรรยาย อภิปราย ประชุมเชิงปฏิบัติการ นำเสนอผลงานวิชาการ และนิทรรศการ

โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ สุขภาพจิตเด็กและการศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง, เด็กไทยกับการใช้สื่อหน้าจอ, ทอแสงทับเงาซึมเศร้าในวัยรุ่น คุณมีส่วนช่วยได้, การจัดการ ขจัดทุกข์ ในโลกยุคเปลี่ยน, ระบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงในชุมชน มุมมองจากปัจจุบันสู่อนาคต, การรู้คิดในผู้สูงอายุ : การประเมินและการฟื้นฟู, การป้องกันการรังแกในโรงเรียน, พลังของสื่อกับการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย, กัญชากับมุมมองที่หลากหลายทางสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งเวทีวิชาการนี้  จะเป็นเวทีที่จะได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ได้แลกเปลี่ยนผลงาน ประสบการณ์ความสำเร็จ รวมทั้งเรียนรู้แนวคิด วิชาการใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน และต่อยอดการทำงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพ ให้มีสุขภาพจิตดี มีความสุข ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว