มท.1 ตรวจเยี่ยมกรมโยธาธิการและผังเมือง เน้นย้ำ กรมโยธาฯ ต้องยกระดับมาตรการควบคุมผู้รับเหมาให้ทำตามสัญญา “ตรงตามราคากลาง ตรงตามมาตรฐาน ตรงตามเวลา”

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมนริศรานุสรณ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง ว่าที่ ร.อ.ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการผังเมือง การพัฒนาเมือง การอาคาร และการบริการด้านช่าง โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองที่ต้องสอดคล้องกับผังเมือง เพื่อให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเมืองให้พร้อมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต

โดยเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ คือ เรื่องมาตรการควบคุมในการทำสัญญาก่อสร้างร่วมกับผู้รับเหมา ที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการดำเนินงานด้านงบประมาณหรือการควบคุมราคากลางตามมาตรฐาน เพื่อความถูกต้องชัดเจน ป้องกันความผิดพลาดหรือการไม่ดำเนินการตามสัญญา ซึ่งส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนผู้รับประโยชน์ ตลอดจนรัฐก็เสียประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในเรื่องการส่งเสริมสถาบันหลัก ซึ่งเป็นภารกิจที่กรมโยธาธิการและผังเมืองทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพราะกรมโยธาฯ มีความใกล้ชิดกับสถาบันในทุกด้าน สิ่งที่ทำเพื่อส่งเสริมแก่บ้านเมืองนั้นนับว่าเป็นเกียรติยศและเป็นความภาคภูมิใจให้แก่พวกเราข้าราชการ จึงขอให้อธิบดีและผู้บริหารของกรมโยธาฯ ได้ดำรงรักษาแนวทางการส่งเสริมสถาบันหลักนี้ไว้และปฏิบัติต่อไป นายอนุทิน ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นโยบายที่เราจะนำไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ให้เป็นแนวทางตามนโยบาย “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ซึ่งหมายความว่า เราต้องรู้เท่าทันความเป็นไปของโลก มองเห็นวิกฤตและโอกาสที่จะมาถึง เพื่อวางแผนการดำเนินงานให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และต้องมีความทันสมัยเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่เราต้องมีแผนรองรับในเรื่องจัดพื้นที่พิเศษในการอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข

“ขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยยึดหลักประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตนและผู้บริหารทุกคนในกระทรวงมหาดไทย พร้อมสนับสนุนภารกิจของท่านทุกประการ พวกเราจะทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และเพื่อการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายอนุทิน ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาน้ำกัดเซาะผืนแผ่นดิน รวมถึงน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงของชาติ แต่เนื่องจากภูมิประเทศ และข้อจำกัดในด้านงบประมาณ เราจะต้องวางนโยบายเชิงระบบเพื่อพัฒนาในการบริการประชาชน ด้วยการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการยกระดับการบริการประชาชนในอนาคต จึงขอฝากพิจารณาเรื่องสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. เรื่องผังเมืองรวม ต้องไม่ลิดรอนสิทธิประชาชนที่ถือปฏิบัติตามกฎหมายฉบับเก่าอย่างถูกต้อง ต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม

2. โครงสร้างพื้นฐานต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เรื่องการตัดถนนต้องคำนึงถึงผังการปลูกสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยในอนาคต ต้องมีการวางแผนให้ดี รวมถึงมีการควบคุมพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอเหมาะสม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

3. การทำงานของท้องถิ่น ในเรื่องกฎระเบียบสิ่งปลูกสร้าง แต่ปัจจุบันมักพบปัญหาการอนุญาตสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายมาโดยตลอด จึงต้องพิจารณาเรื่องความเข้มงวดในกฎระเบียบ

4. พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซ้ำซาก การปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำหรือเดิมเป็นที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมเป็นประจำ จึงขอให้พิจารณาแผนการรองรับรวมถึงแนวทางแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนในอนาคต

5. ผังภูมิสังคม Geo-Social Map ขอให้พิจารณาน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีแก้มลิงเป็นทั้งที่กักเก็บน้ำ รวมถึงเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่จะสร้างสุขภาพลานามัยและความสุขของพี่น้องประชาชน

“ขอให้อธิบดีและผู้บริหารของกรมโยธาฯ ทุกท่าน ตลอดจนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทุกจังหวัด ช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาระบบสารสนเทศผังภูมิสังคม Geo-Social Map สู่การต่อยอดผนวกข้อมูลผังน้ำชุมชนกับ สนทช. รวมถึงข้อมูลน้ำของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรภาครัฐที่ “ทันสมัย” ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ตลอดจนการทำสิ่งที่ดีเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในปี 2567 ด้วยการขับเคลื่อนน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนจัดกิจกรรมจิตอาสาสาธารณประโยชน์ การเทิดพระเกียรติ เพื่อปฏิบัติบูชาถวายเป็นพระราชกุศล” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย