วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่การเกษตรและปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่องในช่วง ที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเกษตร บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก และประกอบกับช่วงเวลานี้ประเทศไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งทำให้โอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงลดน้อยลง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2566
โดยได้กำหนดให้ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยทั่วประเทศ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก เชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ ระยอง นครศรีธรรมราช และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยให้เครื่องบินเดินทางกลับที่ตั้ง ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 3 ชุด โดยมีเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการชุดละ 2 ลำ ชุดที่ 1 เป็นเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำ ส่วนชุดที่ 2 และ ชุดที่ 3 ใช้เครื่องบินขนาดเล็กชุดละ 2 ลำ เพื่อพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่ยังมีความต้องการน้ำ ในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสมเป็นระยะสั้นๆ เป็นการช่วงชิงสภาพอากาศในช่วงฤดูแล้งเพื่อรับมือสถานการณ์ความแห้งแล้งหลังจากนี้ไป
นอกจากนี้ นายสุพิศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2566 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง 188 วัน รวม 4,037 เที่ยวบิน มีการรายงานฝนตกจากการปฏิบัติการ 184 วัน คิดเป็นร้อยละ 89.1 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก 67 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 192.63 ล้านไร่ และมีน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 272 แห่ง ปริมาณน้ำสะสมรวม 599.73 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงในระยะต่อจากนี้
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเน้นย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและให้ปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศมีความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การป้องกันไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน การบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10 และ PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องเกษตรกร ประชาชน เชื่อมั่นในศักยภาพของการปฏิบัติการฝนหลวงว่าสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างแน่นอน และพี่น้องเกษตรกรและประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account TikTok : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้าย