วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าพบและหารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี และคณะผู้บริหารกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถึงแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเปราะบาง ในประเด็นสำคัญดังนี้
1. สิทธิเด็ก มีการหารือถึงกรณีเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยเห็นว่า ควรมีการศึกษาและถอดบทเรียนในทุกมิติ เช่น การอบรมดูแลของครอบครัว การควบคุมอาวุธปืน การแจ้งเหตุฉุกเฉิน สภาพแวดล้อมทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนหรือโลกอินเตอร์เน็ตที่เหมาะสมกับเด็ก สิทธิทางการศึกษากรณีการนำเด็กนักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 (ฉบับราษฎร์อุปถัมภ์) รวม 126 คน กลับประเทศเมียนมา ซึ่ง พม. จะประสานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการดูแลเด็กที่กลับเข้ามาให้ได้เรียนหนังสือ นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกันถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีของ “หยก” และการแก้ไขปัญหาการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งมีข้อจำกัดในการดูแลเด็กด้านงบประมาณและบุคลากร ตลอดจนข้อห่วงกังวลการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักที่เป็นเด็กและมารดาของศูนย์กักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองด้วย
2. สิทธิผู้สูงอายุ กสม. ได้แสดงข้อห่วงกังวลกรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากการให้สิทธิแบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการให้เฉพาะผู้ยากไร้ และปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ เช่น ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง การถูกแสวงประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สิน จึงมีข้อเสนอให้ร่วมกันขับเคลื่อนให้สมัชชาสหประชาชาติเริ่มต้นกระบวนการร่างสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิผู้สูงอายุ เพื่อให้การคุ้มครองผู้สูงอายุเป็นสิทธิมนุษยชนกระแสหลักในระดับสากล
3. สิทธิคนพิการ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ….ในเรื่องการกำหนดนิยาม “องค์การคนพิการแต่ละประเภท” ให้ครอบคลุมองค์กรคนพิการที่สมาชิกมีความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายภาพหรือสุขภาพ และสถานะของบุคคล และการให้สตรีพิการได้เข้ามามีบทบาทในระดับนโยบายเกี่ยวกับคนพิการ
4. ความรุนแรงในครอบครัว มีข้อเสนอให้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบตามข้อเสนอแนะของ กสม. และข้อมติของภาคีเครือข่ายในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 โดยบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทุกกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
5. ข้อห่วงกังวลของ กสม. ต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …. ซึ่งอาจกระทบสิทธิและจำกัดเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม
6. การจัดทำดัชนีสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นเครื่องมือหรือหลักเกณฑ์ร่วมกันในการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ กสม. และ พม. เห็นชอบให้มีกลไกทำงานร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสองหน่วยงานต่อไป