วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 น. นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ชี้แจงกรณีที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นอีก จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณฝนตกหนักสะสม ส่งผลให้น้ำหลากลงสู่ลุ่มน้ำ และอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ได้มีการเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งช่วงวันที่ 12 – 18 ตุลาคม 2566 นี้
โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนน้ำพุงและอ่างเก็บน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก
ทั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวว่า “ในส่วนของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลได้มีการระบายน้ำและแจ้งให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว โดยเริ่มระบายตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ผ่านอาคารท่อระบายน้ำ (River Outlet) ในอัตรา 45 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือระบายที่ 3.90 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและเพิ่มพื้นที่เก็บกักไม่ให้เกินกว่าระดับน้ำกักเก็บสูงสุดที่ 293 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินกว่านี้จะเป็นระดับที่อาจทำให้น้ำล้นอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) โดยที่อัตราการระบายที่ 3.90 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนตามแนวลำน้ำแม่งัดบริเวณท้ายเขื่อนแต่อย่างใด”
และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันผลจากการระบายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ทำให้ปริมาณน้ำลดลงจากเมื่อวาน (10 ต.ค. 2566) กว่า 300,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้การระบายน้ำผ่านลำน้ำแม่งัด และจะไปลงแม่น้ำปิงที่บ้านช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทางโครงการฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่สำรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล สภาพโดยทั่วไปยังอยู่ในภาวะปกติ พร้อมกันนี้ยังจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่งคงของเขื่อนด้วยสายตาแล้วเขื่อนยังอยู่ในสภาพปกติ และหลังจากปริมาณฝนลดลงโครงการฯ จะปรับแผนการระบายน้ำลดลงตามไปด้วย เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่อาจแล้งได้ในอนาคต”