ฟาร์มสุกรทั่วประเทศของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมช่วยชุมชนและเกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้ง ปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพส่งให้ชุมชนนำไปใช้เพื่อการเกษตร บรรเทาผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงที่กำลังคุกคามหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ
สถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในปี 2562 ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ทุกฝ่ายระดมสรรพกำลังช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำใช้เพื่อการเกษตร ภาคเอกชนก็มีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกรได้ โดยตั้งแต่ปี 2547 ฟาร์มสุกรทั่วประเทศของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมช่วยชุมชนและเกษตรกรด้วยการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพส่งให้ชุมชนนำไปใช้เพื่อการเกษตร
นางมยุรี มาโง้ว หนึ่งในเกษตรกรในพื้นที่บ้านปากร่วม ต.สะพานหิน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่เข้าโครงการฯ ได้รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 1 ของซีพีเอฟ มาใช้ในสวนเกษตรแบบพอเพียงที่ปลูกมันสำปะหลัง 8 ไร่ ยูคาลิปตัส 11 ไร่และพืชสวนครัว 5 ไร่ ทั้งไผ่หวาน มะนาว ข่า ตะไคร้ ฯลฯ เล่าว่า ใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มของซีพีเอฟมาตั้งแต่ปี 2550 หรือมากกว่า 10 ปีแล้ว ช่วยประหยัดต้นทุนจากการที่ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มาก ผลผลิตมีคุณภาพดีและเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้จากการเก็บผลผลิตขายเดือนละ 4,000-6,000 บาท นอกจากนี้ น้ำที่ผ่านการบำบัดฯ ซึ่งมีธาตุอาหารที่เหมาะสมสำหรับพืช ช่วยให้ต้นไม้เขียวและโตเร็ว ผลผลิตไผ่หวานมีหน่อโต ที่สำคัญช่วยประหยัดการใช้น้ำ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งหรือช่วงที่ขาดแคลนน้ำ
นายคนึง สืบอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านเขาเขียว อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เกษตรกรที่เข้าโครงการขอรับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มอุดมสุขของซีพีเอฟมามานานกว่า 6 ปี กล่าวว่า ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาล การที่ฟาร์มฯ จัดสรรน้ำปุ๋ยให้ใช้อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำแล้วยังลดขั้นตอนและต้นทุนค่าปุ๋ย เพราะน้ำที่ปล่อยจากฟาร์ม มีไนโตรเจน โพแทสเซียม ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับพืช โดยที่ผ่านมา ได้นำน้ำปุ๋ยมาใช้รดไร่อ้อยที่ปลูกไว้กว่า 100 ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตดี โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเกษตร น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรช่วยเกษตรกรได้มาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ซีพีเอฟยังมาช่วยขุดขยายบ่อพักในพื้นที่เพื่อเก็บน้ำปุ๋ยไว้ใช้ ทำให้เกษตรกรรายอื่นๆ ดูดน้ำในบ่อไปใช้เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตรได้ด้วย
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงผลกระทบต่อเกษตรกรจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ที่เผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก บริษัทฯ จึงได้ช่วยเหลือให้ชุมชนและเกษตรกร ที่อาศัยอยู่รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัทมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร โดยปันน้ำซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดส่งให้กับชุมชนภายนอกเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งมีเกษตรกรจากทุกภาคที่ขอรับน้ำปุ๋ยไปใช้ในไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ปาล์ม ผักสวนครัว สวนผลไม้ ฯลฯ
ในปี 2561 ฟาร์มสุกรทั่วประเทศของซีพีเอฟ มีการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชนรอบฟาร์มไปแล้วกว่า 380,000 ลูกบาศก์เมตร โดยล่าสุด ปี 2562 ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าโครงการปันน้ำปุ๋ยฯ 106 ราย พื้นที่รวม 3,577 ไร่ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้มากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนอกจากฟาร์มสุกรที่ปันน้ำปุ๋ยให้แก่เกษตรกรแล้ว ปัจจุบัน ยังมีเกษตรกรที่ขอรับความช่วยเหลือปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงชำแหละของบริษัท เช่น ที่โรงชำแหละสระแก้ว เกษตรกรฯ ขอนำน้ำไปใช้ในไร่อ้อยพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ และยังช่วยลดค่าปุ๋ยให้เกษตรกรรายดังกล่าวได้ถึงปีละ 300,000 บาท
“สถานการณ์ปริมาณฝนที่ตกน้อยและฝนทิ้งช่วง ทำให้ปีนี้เกษตรกรหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดน้ำในการเพาะปลูก ซึ่งได้มอบหมายให้ฟาร์มสุกรทั่วประเทศช่วยดูแลเกษตรกรรอบๆ ฟาร์ม ปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรนำไปใช้ในการเพาะปลูก และการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ“ นายสมพรกล่าว